สร้างกลิ่นหอมเย้ายวนใจ ให้อาหารไทยของคุณ
เรียนรู้เคล็ดลับง่ายๆ ที่จะทำให้อาหารไทยจานโปรดคุณหอมอร่อยจนอดใจไม่ไหว
แม้ว่า “รสชาติ” จะเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของทุกจานอาหารก็ตาม แต่ยังมีปัจจัยอื่นอีกหลายอย่างที่ช่วยทำให้อาหารมีรสเลิศยิ่งขึ้น เพราะประสาทสัมผัสของคนเราสามารถรับรสชาติได้เพียงแค่ 5 รส คือ เปรี้ยว หวาน เค็ม ขมและกลมกล่อม หากต้องการให้อาหารอร่อยล้ำกว่านั้น ก็ต้องเพิ่มสัมผัสอื่นทั้งจากจมูก ตา และหูเข้าไปด้วย โดยเฉพาะประสบการณ์การสัมผัสความอร่อยจากกลิ่นผ่านจมูกนั้น สามารถเพิ่มความเลิศรสได้เป็นอย่างดี
หากว่ากันเรื่อง “กลิ่นหอม” แล้ว ครัวแต่ละชาติต่างก็มีลักษณะความหอมที่แตกต่างกันไป สำหรับครัวไทยนั้นให้ความสำคัญกับจานอาหารที่บอกเล่าเรื่องราวได้ ส่วนผสมและวัตถุดิบที่ซับซ้อน ปรุงอย่างพิถีพิถัน มีกลิ่นหอมอันเย้ายวนดึงดูดใจผู้คน
และนี่คือ 7 เคล็ดลับที่จะทำให้อาหารไทยจานเด็ดของคุณ เปี่ยมไปด้วยศิลปะของรสชาติ หน้าตา และกลิ่นหอม
1. สัดส่วนต้องลงตัว “ไม่มากไป ไม่น้อยไป”
อาหารไทยมักหนักเครื่องเทศ เพราะเครื่องเทศสามารถดึงคุณภาพของวัตถุดิบในจานอาหารให้ดียิ่งขึ้นได้ และยังช่วยเพิ่มรสชาติให้กับอาหาร แต่สิ่งที่ควรจำไว้ คือ ควรใส่เครื่องเทศอย่างเบามือ ในสัดส่วนที่พอดี หากมากไปก็บดบังกลิ่นของวัตถุดิบอื่นๆ ในจาน น้อยไปก็เบาบางจนสัมผัสไม่ได้ เท่านี้คุณก็จะได้อาหารที่ลงตัว เปี่ยมไปด้วยกลิ่นหอมยั่วน้ำลาย เรียกน้ำย่อยได้เป็นอย่างดี
2. สวยแบบมีจุดประสงค์
บางครั้งหลายคนอาจมองว่าการหั่นตกแต่งวัตถุดิบให้สวยงามเรียบร้อยเป็นเรื่องที่วุ่นวาย แต่อันที่จริงแล้วขั้นตอนนี้ไม่เพียงแค่ทำให้อาหารดูสวยงามน่ากินและรู้สึกสะอาดตาเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อการปรุงให้สุกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารจานผัดที่ต้องปรุงด้วยความรวดเร็ว การหั่นวัตถุดิบให้มีขนาดพอเหมาะเป็นระเบียบ จะช่วยให้ปรุงอาหารได้สุกทั่วกันสะดวกขึ้น
3. อย่าปรุงนานจนเกินไป
ข้อนี้สำคัญมาก เพราะการปรุงนานเกินไปนั้น นอกจากจะทำให้อาหารเละ ไม่น่ากิน รสชาติด้อยลงแล้ว ยังทำให้กลิ่นหอมในอาหารกระจายและจางหายไปอีกด้วย
4. เตรียมวัตถุดิบให้เหมาะกับการปรุง
เช่น กรณีการปรุงอาหารจานผัดและจานทอด สิ่งสำคัญหนึ่งที่ต้องใส่ใจ คือ วัตถุดิบต่างๆ นั้นควรต้องแห้ง เพื่อทำให้น้ำมันไม่กระเด็นขณะทอดหรือผัด หากส่วนผสมไม่แห้ง จะมีผลทำให้รสชาติอาหารไม่ดีเท่าที่ควร รวมถึงกลิ่นหอมของอาหารนั้นๆ ก็จะออกมาได้ไม่เต็มที่ด้วย
5. อะไรก่อนอะไรหลัง
เราต้องรู้และเรียงลำดับให้ดีว่า วัตถุดิบชนิดไหนต้องปรุงก่อนหรือปรุงทีหลัง เพราะลำดับการใส่ลงในกระทะหรือหม้อมีผลต่อความสุกมากน้อย หากใส่ผิดก็จะต้องมีส่วนผสมบางอย่างที่สุกมากไปจนเละ หรือสุกน้อยไปเข้าขั้นดิบ ตัวอย่างที่ชัดเจน เช่น อาหารจานผัด ที่ต้องใส่กระเทียม หัวหอมหรือขิง ลงกระทะเป็นลำดับแรก เพราะเครื่องเทศและสมุนไพรเหล่านี้เมื่อถูกความร้อนจึงจะหอม จากนั้นจึงค่อยใส่ส่วนผสมไล่ลำดับจากสุกง่ายไปสุกยากทีละอย่าง เพื่อให้ที่สุดแล้ว ส่วนผสมทั้งหมดสุกเท่ากัน เช่น ใส่เนื้อหมู สุกแล้วจึงใส่ผักก้าน สุดท้ายเป็นผักใบ เท่านี้ผัดผักจานนี้ก็สุกเสมอกันแล้ว
6. ใช้ความร้อนสูงปรุงอาหาร
การปรุงอาหารด้วยความร้อนสูงจะช่วยดึงกลิ่นหอมของอาหารออกมาได้มากที่สุด เพราะหากปรุงด้วยความร้อนปานกลางหรือต่ำ จะทำให้มีน้ำออกมาจากส่วนผสมมาก อาหารจะรสชาติเจือจางลง รวมถึงกลิ่นหอมของอาหารย่อมลดลงด้วย
7. อย่าติดอยู่กับวิธีเดิมๆ ผสมผสานเพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุด
เทคนิคในการปรุงอาหารที่แตกต่างกัน ย่อมให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่ว่า เราอยากให้จานอาหารนั้นเป็นอย่างไร เช่น การหมักกระเทียมดิบ การใส่เกลือจะช่วยดึงรสชาติกระเทียมออกมาได้มากขึ้น และถ้าใช้น้ำมันมาหมักจะยิ่งทำให้รสชาติและกลิ่นหอมทั่วถึงกัน หรืออาจลองอบกระเทียมเพื่อกระเทียมมีรสชาติหวานและมีกลิ่นหอมมากยิ่งขึ้น แต่ก็ต้องระวังอย่าให้ไหม้
สิ่งที่คุณจะได้รับ:
- ฟรี หลักสูตรอบรมด้านธุรกิจอาหารและการทำอาหาร
- สูตรอาหารและเคล็ดลับที่ดีที่สุดจากเชฟทั่วโลก
- เทรนด์การทำอาหารล่าสุด