อาหารไทย รวมเมนู เคล็ดลับและเทคนิคการทำอาหารไทย
สารพันวิธีทำเมนูอาหารไทย และรวมเคล็ดลับการทำอาหารไทยให้มีรสชาติอร่อยกลมกล่อม กลิ่นหอม น่ารับประทาน
อาหารไทย: จานไทยสู่ครัวโลก
อาหารไทยเป็นอาหารประจำชาติของประเทศไทย สูตรการทำอาหารไทยมีการคิดค้นและถ่ายทอดมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา จนถึงยุครัตนโกสินทร์ ทำให้อาหารไทยเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของชาติและเป็นวัฒนธรรมประจำชาติไทย
นอกจากอาหารไทยจะเป็นอาหารที่คนไทยทานเป็นกิจวัตรและเป็นรสชาติถูกปากของคนไทยแล้ว อาหารไทยยังโด่งดังไปทั่วโลก ด้วยรสชาติกลมกล่อมครบรส ความหอมเครื่องเทศแบบไทย เมนูหลากหลายประเภท ทำให้ไม่ว่าร้านอาหารไทยจะเปิดอยู่มุมใดของโลก ก็เป็นที่โปรดปรานของลูกค้า
ด้วยเสน่ห์ของอาหารไทยนี้เอง ทำให้เมนูอาหารไทยได้อันดับ 1 จาก 50 อันดับอาหารที่อร่อยที่สุดในโลกปี 2564 ซึ่งจัดอันดับโดยซีเอ็นเอ็น (CNN) ซึ่งก็คือแกงมัสมั่น โดยนอกจากนั้นยังมีต้มยำกุ้งอยู่ในอันดับ 8 และส้มตำอยู่อันดับ 46 อีกด้วย
เอกลักษณ์อาหารไทย: รสนัว หอมเครื่องเทศแบบไทยๆ
อาหารไทยมีลักษณะและเอกลักษณ์เฉพาะตัวหลายประการที่แตกต่างไปจากอาหารชาติอื่น ยกตัวอย่างเช่น การทำอาหารไทยจะเน้นความประณีต พิถีพิถันทุกขั้นตอนทั้งการเตรียมวัตถุดิบ การทำและการปรุงรสชาติ อาหารไทยจะมีข้าวเป็นจานหลักทานคู่กับกับข้าวโดยมักจะทานรวมกันหลายเมนูต่อมื้อ และมีแบ่งปันกันทานกับข้าวร่วมกันเป็นปกติ เป็นต้น แต่สองสิ่งที่ถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์สำคัญของอาหารไทยที่ทำให้ทั้งคนไทยและทั่วโลกต่างชื่นชมและชื่นชอบนั่นก็คือรสชาติและความหอม
รสชาติของอาหารไทยเป็นที่เลื่องลือ เนื่องจากเอกลักษณ์ของความครบรสใน 1 จานหรือในหนึ่งสำรับ บางคนที่ยังรู้จักอาหารไทยไม่ดีพอ อาจคิดว่าอาหารไทยเน้นรสเผ็ด แต่ในความจริงแล้ว รสชาติอาหารไทยมาจากรสผสมผสมของส่วนประกอบในเมนู ซึ่งจะทำให้ได้รสชาติที่จัดจ้านและครบรส มีทั้งรสเค็ม เผ็ด เปรี้ยว หวาน มัน ขมหรือจะมีรสชาติอื่นๆ ตามแต่ละเมนูอาหาร หรือบางคนเรียกรสชาติที่ครบรส กลมกล่อมว่า รสนัว นอกจากนั้น หากเมนูไหนมีรสใดรสหนึ่งนำ คนไทยก็มักจะมีเมนูอื่นๆ ที่ไว้ทานคู่กันเพื่อตัดรสหรือเพิ่มรสชาติความครบรสเข้าในไปสำรับนั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น ส้มตำที่มีความเผ็ด เปรี้ยวนำ ก็มักจะทานคู่กับไก่ย่างที่มีความเค็ม รสกลมกล่อม เป็นต้น
ความหอมของอาหารไทยถือเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ที่สำคัญ ด้วยความที่อาหารไทยนั้นเป็นอาหารที่มีความพิถีพิถันในการทำ ในแต่ละเมนูจะมีการคัดสรรวัตถุดิบมาผสมผสานอย่างลงตัวให้ได้กลิ่นที่หอมหวนและกลมกล่อม และรสชาติจัดจ้าน ถึงเครื่อง ดังนั้นสมุนไพรและเครื่องเทศไทยจึงเป็นองค์ประกอบหลักในการทำอาหารไทย เรียกได้ว่าในทุกจานของอาหารไทย จะต้องมีเครื่องเทศไทยผสมผสานลงไปหลายชนิดเพื่อให้เมนูนั้นออกมาหอมสมุนไพรเครื่องเทศสมกับเป็นอาหารไทย
เครื่องเทศแบบไทยแท้
เครื่องเทศไทยเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้อาหารไทยมีเอกลักษณ์ในเรื่องของกลิ่นหอมกลมกล่อม รสชาติถึงเครื่อง จนเป็นที่รู้จักและชื่นชอบไปทั่วโลก โดยเครื่องเทศและสมุนไพรต่างๆ ที่เป็นตัวชูโรงให้อาหารไทยนี้ไม่ใช่วัตถุดิบหายากอะไร แต่เป็นสิ่งที่คนไทยคุ้นเคย หาได้ทั่วไปและใช้ในทุกครัวเรือน รวมถึงร้านอาหารทั้งร้านเล็ก ร้านใหญ่ โรงแรม ภัตตาคารหรู ซึ่งนอกจากเครื่องเทศสมุนไพรไทยต่างๆ จะนำมาใช้ปรุงอาหารเพิ่มกลิ่นและรสชาติแบบไทยๆ แล้ว ยังมีสรรพคุณทางยา ช่วยรักษาโรคและบำรุงร่างกายได้อีกด้วย เครื่องเทศไทยแท้ยอดนิยมที่ใช้กันทั่วไปได้แก่
- พริก เช่น พริกขี้หนู พริกกะเหรี่ยง ถือเป็นสมุนไพรพระเอกของอาหารไทย ที่ให้ความเผ็ดร้อนที่ชัดเจนเป็นเอกลักษณ์ จนบางคนนึกถึงความเผ็ดเป็นอันดับแรกเมื่อนึกถึงอาหารไทย
- พริกไทย ราชาแห่งเครื่องเทศ เป็นสมุนไพรที่มีรสและกลิ่นเฉพาะตัว มีกลิ่นแรง ฉุนแต่มีความหอมและมีรสเผ็ดร้อนจึงใช้ดับกลิ่นคาวได้ดี นิยมนำมาป่นเพื่อใช้โรยหน้าอาหารหรือผสมในขั้นตอนการทำได้ทั้งแบบผงและแบบเม็ดพริกไทยสด
- กระเทียมไทย มีกลิ่นแรงและฉุนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งแตกต่างจากกระเทียมที่มาจากภูมิภาคตะวันตก จึงเป็นวัตถุดิบเพิ่มความหอมและรสชาติความอร่อยเป็นเอกลักษณ์แบบไทยที่ใช้กันอย่างแพร่หลายและได้รับการยอมรับจากทั่วโลก
- มะนาว ให้รสเปรี้ยวที่แหลมคม นอกจากนั้นยังให้กลิ่นหอมเฉพาะตัวจากเปลือกมะนาว ที่วัตถุดิบให้ความเปรี้ยวชนิดอื่นมาแทนที่ไม่ได้ จึงเป็นวัตถุดิบที่ขาดไม่ได้ประจำครัวไทยเพื่อให้รสเปรี้ยวและความหอมของมะนาว
- กระชาย สมุนไพรรสเผ็ด ให้กลิ่นหอมอย่างมีเอกลักษณ์ ถือเป็นวัตถุดิบสำคัญในเครื่องแกง นอกจากนั้นครัวไทยยังใช้กระชายในเมนูผัดฉ่า ต้มยำ และช่วยดับกลิ่นคาวของปลาอีกด้วย
- หอมใหญ่ ให้กลิ่นหอมฉุน และจะให้รสหวานเมื่อโดนความร้อน มักจะนำมาใช้เป็นทำน้ำซุปเพื่อเพิ่มรสชาติกลมกล่อม นอกจากนั้นในอาหารไทยยังใช้ทำเมนูผัด หรือยำอีกด้วย
- หอมแดง เครื่องเทศฤทธิ์เผ็ดร้อน หอมแดงถือเป็นส่วนประกอบในอาหารไทยเกือบทุกชนิด มักจะนำมาทำอาหารประเภทยำ ต้ม แกง
- ขิง ให้กลิ่นและรสเผ็ดร้อนปนขม นำมาปรุงอาหารได้หลากหลายเมนูทั้งคาว หวาน
- ข่า ให้รสเผ็ดปร่า พร้อมกับมีน้ำมันหอมระเหยในตัว สามารถนำหัวข่าและเหง้ามาทำอาหารได้หลายเมนู เช่น ต้มยำ ต้มแซบ น้ำพริก เครื่องแกง
- ตะไคร้ สมุนไพรให้กลิ่นหอมที่ได้จากลำต้น นิยมนำมาทำต้มยำ ยำ เพื่อเพิ่มความหอมของจานอาหารไทยได้
- มะกรูด เครื่องปรุงกลิ่นส้ม ในอาหารไทยจะนิยมใช้ทั้งใบและผลมะกรูดในอาหารไทยทั้งแกงเผ็ด ต้มยำ ผัดเผ็ด
เครื่องปรุงรสอาหารไทย
เมื่อเอกลักษณ์ของอาหารไทยคือรสชาติที่กลมกล่อม ครบรส และกลิ่นหอมเครื่องเทศไทยแท้ การจะปรุงอาหารไทยต้องคำนึงถึงองค์ประกอบสำคัญ 2 ข้อนี้เป็นหลัก แต่ในยุคปัจจุบันที่ต้องอาศัยความรวดเร็ว สะดวก เพื่อให้สอดคล้องกับกิจวัตรที่เร่งรีบ ความพิถีพิถันในการเตรียมวัตถุดิบและการทำอาจต้องพึ่งตัวช่วย ซึ่งผงปรุงรสก็เป็นตัวช่วยสำคัญของเหล่าพ่อครัวแม่ครัว และผู้ประกอบการร้านอาหารไทย
ปัจจัยหลักในการเลือกเครื่องปรุงรสและผงปรุงรสเพื่อทำอาหารไทย จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับเอกลักษณ์อาหารไทยคือความหอมเครื่องเทศไทยแท้ทั้งกระเทียม พริกไทยและสมุนไพรต่างๆ ที่เป็นตัวชูโรงให้รสชาติของอาหารไทยมีความอร่อยกลมกล่อม นอกจากนั้น ผงปรุงรสมีผลโดยตรงกับงบประมาณ ต้นทุนและแรงงานในครัวอีกด้วย เนื่องจากสามารถช่วยให้ผู้ประกอบการประหยัดต้นทุนค่าของสด การตุนของสด ลดขั้นตอน เวลาและแรงงานในการเตรียมวัตถุดิบของสดเพื่อนำมาใช้ปรุงรสอาหาร อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับผงปรุงรส ใช้ตัวไหนดี สำหรับผู้ประกอบการร้านอาหาร
เมนูอาหารไทยยอดนิยม
สิ่งที่คุณจะได้รับ:
- ฟรี หลักสูตรอบรมด้านธุรกิจอาหารและการทำอาหาร
- สูตรอาหารและเคล็ดลับที่ดีที่สุดจากเชฟทั่วโลก
- เทรนด์การทำอาหารล่าสุด