รวมวิธีเก็บรักษาวัตถุดิบและอุปกรณ์เบเกอรี่
เคล็ดลับที่ช่วยให้นักอบเบเกอรี่ลดต้นทุนได้อย่างอยู่หมัด
ในทุก ๆ ธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจอาหารและเบเกอรี่ การควบคุมและลดต้นทุนวัตถุดิบถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ แต่การเก็บรักษาวัตถุดิบและอุปกรณ์เบเกอรี่ให้ถูกวิธีก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งวิธีในการช่วยควบคุมและลดต้นทุนค่าวัตถุดิบให้กับเหล่าผู้ประกอบการได้เช่นกัน ดังนั้นวันนี้ ยูนิลีเวอร์ ฟู้ด โซลูชั่นส์ จึงมีเคล็ดลับวิธีเก็บรักษาวัตถุดิบและอุปกรณ์เบเกอรี่ในแต่ละประเภทมาแนะนำให้เหล่าผู้ประกอบการได้นำไปประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อกิจการเบเกอรี่ของทุกคน
เคล็ดลับการเก็บรักษาวัตถุดิบสดสำหรับทำเบเกอรี่
- ไข่สด ควรเก็บไว้ในตู้เย็น และเก็บไว้ในส่วนของช่องเก็บไข่เนื่องจากไข่สดจะสูญเสียความชื้นและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไข่มักจะดูดกลิ่นไม่พึงประสงค์ภายในตู้เย็นเอาไว้และจะทำให้ไข่มีกลิ่น หากไม่แช่ไว้ในช่องแช่ไข่ วิธีวางไข่ที่ถูกต้อง ควรวางให้ส่วนกว้างของไข่อยู่ด้านบนจะช่วยให้สามารถเก็บไข่สดไว้ได้นานถึง 5 สัปดาห์เลยทีเดียว
- นมสด หรือหางนมเมื่อใช้เสร็จแล้ว ควรนำไปใส่ขวดแก้ว หรือขวดพลาสติกแล้วนำไปแช่เก็บไว้ในตู้เย็นเพื่อป้องกันการเกิดกรดแล็กติก ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้นมบูดหรือมีรสเปรี้ยว สำหรับนมข้นจืดอาจจะบูดได้ยากกว่านมสด เนื่องจากเป็นนมที่ผ่านการฆ่าเชื้อมาแล้ว แต่ก็ต้องเก็บไว้ในตู้แช่เย็นและหลีกเลี่ยงการเก็บไว้ในบริเวณที่มีความร้อนหรือพื้นที่ที่อุณหภูมิสูง เพราะอาจจะทำให้นมบูดได้เช่นกัน
- เนย สำหรับเนยสด โดยปกติแล้วสามารถเก็บได้โดยการนำไปใส่ภาชนะที่มีฝาปิดสนิท แล้วนำไปแช่ไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดา แต่ถ้าหากต้องการเก็บเนยให้มีอายุการใช้งานได้นานยิ่งขึ้นควรนำไปแช่เก็บไว้ในช่องแช่แข็งจะทำให้สามารถเก็บเนยไว้ใช้ได้นานเป็นปี แต่ข้อเสียของการเก็บเนยด้วยวิธีนี้จะทำให้กลิ่นหอมของเนยสดเจือจางลงไปอย่างเห็นได้ชัด สำหรับมาร์การีน และเนยขาวสามารถเก็บไว้ในอุณหภูมิห้องปกติโดยไม่ต้องแช่เย็น เพียงแค่ต้องนำไปใส่ภาชนะที่มีฝาปิดสนิท แต่หากทำการเปิดใช้แล้วแนะนำให้นำใส่ภาชนะที่มีฝาปิดสนิท แล้วนำไปแช่ไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดา เพื่อป้องกันกลิ่นหืนจากส่วนผสมของน้ำมันนั่นเอง
- ชีส ต้องเก็บไว้ในตู้เย็นและควรทำการห่อชีสให้มิดชิดก่อนนำไปเก็บ ควรแกะห่อพลาสติกที่ห่อชีสออกก่อน เพราะจะทำให้ชีสขาดอากาศถ่ายเทและดูดกลิ่นพลาสติกเข้ามา เมื่อแกะแล้วให้ดมกลิ่นดูว่าถ้ามีกลิ่นพลาสติกติดมาหรือไม่ หากมีกลิ่นพลาสติกติดมา ให้หั่นผิวชีสด้านที่ถูกพลาสติกออกบาง ๆ แล้วห่อด้วยกระดาษไข หรือกระดาษรองอบแล้วติดเทปให้แน่น จากนั้นให้ห่อด้วยพลาสติกแรปหรือใส่ในถุงซิปล็อก แล้วปิดถุงให้แน่นเพื่อกันชีสดูดกลิ่นอาหารชนิดอื่น ๆ จากตู้เย็นเข้ามา ที่สำคัญอย่าลืมเขียนชื่อชีส วันที่ซื้อ วันหมดอายุติดไว้ก่อนนำไปเก็บ (แนะนำให้เก็บไม่เกิน 1 เดือนนับจากแกะใช้ครั้งแรก) ส่วนที่เหมาะสมที่สุดในการเก็บชีสก็คือลิ้นชักแช่ผัก เพราะเป็นส่วนที่มีอุณหภูมิอุ่นที่สุดเมื่อเทียบกับส่วนอื่น ๆ ของตู้เย็น และมีอุณหภูมิคงที่ระหว่าง 2-7 องศาเซลเซียส ซึ่งเหมาะสมกับการเก็บชีส และส่วนที่ไม่ควรวางชีสไว้เลยก็คือประตูตู้เย็น เนื่องจากอุณหภูมิจะเหวี่ยงจากการเปิดปิดตู้เย็นนั่นเอง
- เนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะเป็น หมู, ไก่, เนื่อวัว ควรล้างทำความสะอาดให้ดีก่อนเก็บ ถูด้วยเกลือเพื่อให้เกล็ดเกลือขัดเอาคราบเมือกบนผิวออก และความเค็มของเกลือจะฆ่าเชื้อโรคบนผิวก่อนที่เราจะจัดเก็บ ควรเก็บในช่องแข็งและควรเก็บในสภาวะสุญญากาศหรือนำไปแช่ในช่องแช่แข็งจะช่วยทำให้เนื้อสัตว์มีความสดใหม่และสามารถเก็บไว้ใช้ได้นาน
- หอย สำหรับหอยที่ยังเป็นหอยเป็น ๆ ให้นำทิชชูซับน้ำหมาด ๆ แล้วนำมาห่อหอยเอาไว้ แล้วนำไปใส่ไว้ในชามแบบไม่ต้องปิดฝาจากนั้นให้นำไปแช่ไว้ในตู้เย็น ที่อุณหภูมิประมาณ 1 - 4 องศา หากใช้วิธีนี้ในการเก็บรักษาหอย จะสามารถทำให้หอยยังมีชีวิตอยู่ได้ถึง 10 วัน สำหรับเนื้อหอย สามารถแช่ใส่น้ำแล้วเก็บแช่แข็งที่อุณหภูมิ -17 องศาเซลเซียสลงไป วิธีนี้เก็บได้นาน 4 - 6 เดือน หากต้องการนำมาใช้ทำอาหารควรนำไปใส่ในตู้เย็นช่องปกติ ทิ้งไว้ 1 คืนเพื่อละลายน้ำแข็งก่อนนำไปปรุงอาหาร
- ปลาหมึก นำไปล้างทำความสะอาด ด้วยการล้างหลาย ๆ น้ำเพื่อขจัดกลิ่นคาว แล้วนำไปใส่ไว้ในกล่องถนอมอาหาร หรือห่อไว้ด้วยฟิล์มห่ออาหาร จากนั้นให้นำไปแช่ในตู้เย็น ในส่วนของช่องแช่เนื้อสัตว์ หากเก็บรักษาปลาหมึกด้วยวิธีนี้จะสามารถเก็บได้นานถึง 4 วัน
- กุ้ง ควรล้างทำความสะอาดให้เรียบร้อย จากนั้นให้นำไปบรรจุไว้ในถุง หรือกล่องพลาสติก ที่ปิดสนิท แล้วนำไปแช่ไว้ในตู้เย็นในส่วนของช่องแช่เนื้อสัตว์ การเก็บรักษากุ้งวิธีนี้จะทำให้เราสามารถเก็บรักษากุ้งไว้ได้นานถึง 3 วัน
- ปลา แนะนำให้ผ่าท้อง แล้วเอาไส้ออก แล้วนำไปล้างทำความสะอาดด้วยน้ำเกลือก่อน 1-2 ครั้ง จนกว่าเมือกปลาจะหลุดออกหมด จากนั้นให้ล้างด้วยน้ำสะอาดอีก 1-2 ครั้ง จากนั้นนำไปใส่กล่องถนอมอาหาร แล้วนำไปแช่ในช่องแช่แข็งที่มีอุณหภูมิประมาณ -17 องศาเซลเซียสลงไป หากต้องการนำออกมาใช้ ให้ย้ายไปแช่ไว้ในช่องปกติ 1 คืนเพื่อทำการละลายน้ำแข็ง วิธีนี้จะทำให้สามารถเก็บเนื้อปลาไว้ได้นาน 4-6 เดือน
- ไส้กรอก, แฮม, ปูอัดและเบคอน สามารถเก็บในตู้เย็นได้ประมาณ 1 สัปดาห์ และควรเก็บไว้ในช่องแช่เนื้อสัตว์ หรือช่องแช่แข็ง หากเก็บในช่องแช่แข็งจะเก็บไว้ใช้ได้นาน 1 - 2 เดือน
- ปลาทูน่ากระป๋อง หากเปิดใช้แล้วแต่ใช้ไม่หมดให้ถ่ายจากกระป๋องใส่ภาชนะอื่นที่มีฝาปิด แล้วนำใส่ตู้เย็นในช่องปกติ และเมื่อต้องการนำมาปรุงอาหารในมื้อต่อไป ก็เพียงนำไปอุ่น หรือนำไปปรุงผ่านความร้อนแล้วนำไปใช้ได้ทันที สำหรับทูน่ากระป๋องที่ยังไม่ได้ผ่านการเปิดใช้ สามารถเก็บรักษาไว้ในอุณหภูมิห้องปกติได้เลย แต่ควรหลีกเลี่ยงการจัดเก็บในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิสูง หรือมีแสงแดดจัด เพราะอาจทำให้ทูน่ากระป๋องเน่าเสียได้
- ผัก ถือเป็นวัตถุดิบที่สามารถช้ำ หรือเน่าเสียได้ง่ายที่สุด ดังนั้นจึงมีขั้นตอนในการเก็บรักษาที่ค่อนข้างละเอียด ขั้นตอนในการเก็บรักษาผักสดสามารถทำได้ดังนี้
- แยกผักสดแต่ละชนิดออกจากกันแล้วใส่กล่องสุญญากาศ ที่มีฝาล็อกปิดสนิท สาเหตุก็เป็นเพราะว่าในผักบางชนิดจะปล่อยก๊าซเอทีลีนออกมาทำให้ผักที่อยู่รอบข้างเน่าเสียและเสื่อมสภาพเร็วขึ้น
- ไม่ควรล้างผักก่อนเก็บ แต่ควรล้างก่อนนำมาใช้ในการทำเบเกอรี่ ควรแยกเก็บใส่ถุงแล้วเก็บไว้ในอุณหภูมิประมาณ 7 องศาเซลเซียส จะทำให้คงความสดได้นานขึ้น หรือถ้ามีการล้างผักต้องทำให้แห้งก่อนนำไปเก็บและไม่ควรที่จะแช่ผักลงไปในน้ำแบบทั้งต้น เนื่องจากจะส่งผลให้ผักเกิดการอมน้ำ เมื่อเก็บไว้นาน ๆ จะทำให้ผักช้ำและเน่าได้ และนอกจากนี้ยังทำให้วิตามินที่อยู่ในผักละลายไปกับน้ำอีกด้วย
- ผลไม้ เป็นอีกหนึ่งวัตถุดิบที่สามารถช้ำและเน่าเสียได้ง่ายไม่ต่างจากผักแต่เรามีขั้นตอนและวิธีการเก็บรักษาที่ถูกต้องมาแนะนำให้ผู้ประกอบการได้นำไปปรับใช้ ซึ่งขั้นตอนในการเก็บรักษาผลไม้สามารถทำตามได้ดังนี้
- ควรแยกผลไม้ออกตามประเภท และจัดเก็บให้เป็นกลุ่ม เพราะในผลไม้บางชนิดที่สุกแล้วนั้น จะปล่อยก๊าซเอทีลีนออกมา ซึ่งจะทำให้ผลไม้ที่อยู่รอบข้างเกิดความเน่าเสียได้เร็วขึ้น
- การเก็บผลไม้ในตู้เย็น ควรเก็บในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิประมาณ 4 องศาเซลเซียส – 10 องศาเซลเซียส ไม่ควรแช่ผลไม้ที่อุณหภูมิต่ำกว่านี้เพราะจะทำให้วิตามินและแร่ธาตุถูกทำลายหรืออาจจะทำให้เนื้อผลไม้นั้นช้ำและเสียรสชาติได้
- ไม่ควรล้างผลไม้ก่อนนำไปแช่เย็น เนื่องจากสารที่ป้องกันเปลือกผิวของผลไม้ก็จะหลุดลอกออกไปด้วย จึงทำให้ไม่เหมาะกับการเก็บรักษาไว้เป็นเวลานาน แต่ถ้าหากว่าจำเป็นต้องเก็บจริง ๆ ก็สามารถทำได้ด้วยการห่อด้วยกระดาษ แล้วนำไปแช่ในตู้เย็น เนื่องจากกระดาษจะช่วยกักเก็บความชื้นไม่ให้ระเหยออกไปจากผลไม้ และยังช่วยคงความสดของผลไม้ได้นานขึ้นนั่นเอง
เคล็ดลับการเก็บรักษาวัตถุดิบแห้งและเหลวสำหรับทำเบเกอรี่
- แป้ง การเก็บรักษาแป้งชนิดต่าง ๆ เช่น แป้งเค้ก แป้งขนมปัง ฯลฯ ควรเก็บไว้ในที่ที่ปลอดจากแมลงหรือสิ่งแปลกปลอมรบกวน จะช่วยให้แป้งคงคุณภาพไว้ได้เต็มที่ และเก็บได้นานถึง 5 เดือน ควรเก็บไว้ในที่สะอาด มีอากาศถ่ายเทดี ปราศจากกลิ่น พื้นที่ที่ใช้เก็บแป้งควรมีอุณหภูมิ 68 - 72 องศาฟาเรนไฮต์ และมีความชื้นสัมพัทธ์ 55 - 65 % หากมีตัวแมลงหรือสิ่งแปลกปลอมเข้าไปอยู่จะต้องแยกแป้งนำออกมาทิ้งทันที การป้องกันไม่ให้มีสิ่งแปลกปลอมลงไปผสมในแป้งทำได้โดยการเก็บแป้งไว้ในภาชนะที่มีฝาปิดสนิทมิดชิด หรือหากเก็บในถุงก็ควรเป็นถุงที่ปิดปากได้สนิท ไม่มีรอยชำรุดฉีกขาด
- ยีสต์ เป็นวัตถุดิบเบเกอรี่ที่เสียได้ง่าย การเก็บยีสต์ควรเก็บไว้ในที่แห้ง ไม่ให้สัมผัสแสงแดด และความชื้นโดยตรง ควรเก็บในตู้เย็น หรือเก็บไว้ในที่ที่มีอุณหภูมิไม่สูงกว่า 90 องศาฟาเรนไฮต์ หากเก็บรักษาได้ตามระดับอุณหภูมิที่กำหนดยีสต์จะมีอายุการใช้งานอย่างน้อยสูงสุด 1 เดือน
- ผงฟู ควรเก็บในที่แห้งและเย็น ควรปิดฝาให้สนิท สำหรับภาชนะที่ใช้บรรจุจะต้องสะอาดและไม่เป็นสนิม หากผู้ประกอบการกำลังมองหาผงฟูนำไปทำเมนูเบเกอรี่สามารถกดลิงก์ไปช็อปกันได้เลยที่นี่ ผงฟู
- เบกกิ้งโซดา ควรเก็บในที่เย็น แห้ง และปิดฝาให้สนิท สำหรับภาชนะบรรจุจะต้องสะอาดและไม่เป็นสนิม และสามารถเก็บไว้ในกล่อง หรือถุง ควรวางเก็บไว้ในที่แห้ง ถ้าจะให้ดีควรเลือกในที่ที่มีอุณหภูมิคงที่เพื่อคงความสดอยู่เสมอ และควรเลือกเก็บในบริเวณที่อยู่ห่างจากเตาไมโครเวฟ หรือหม้อต้มกาแฟ และที่สำคัญควรเก็บเบกกิ้งโซดาให้ห่างจากเครื่องเทศที่กลิ่นแรง ๆ เพราะเบกกิ้งโซดาสามารถดูดกลิ่นบางอย่างผ่านถุงพลาสติกได้ การเก็บด้วยวิธีนี้จะสามารถเก็บรักษาได้นานประมาณ 2 - 3 ปี แต่ควรทดสอบโดยการดมกลิ่นและสัมผัสถึงเนื้อสัมผัสของเบกกิ้งโซดาก่อนใช้เพื่อเช็กว่ายังสามารถใช้งานได้ดีอยู่หรือไม่
- ผงโกโก้ ควรเก็บในภาชนะที่ปิดได้มิดชิด และมีลักษณะที่แห้งไม่ชื้น ไม่ควรเก็บไว้ในบริเวณที่มีแสงแดดส่องถึง หรือพื้นที่ที่มีอุณหภูมิสูง เนื่องจากผงโกโก้เหมาะที่จะอยู่ในที่ที่มีความชื้นต่ำ จึงจะทำให้มีอายุการเก็บรักษาได้นาน แต่อย่างไรก็ตามเราก็ต้องดูวันหมดอายุบนบรรจุภัณฑ์เพื่อคุณภาพที่ดีที่สุด
- เครื่องเทศ ไม่ว่าจะเป็น พริกไทย, ขมิ้น, อบเชย, กานพลู,,เก๋ากี้ หรือเครื่องเทศชนิดอื่น ๆ ควรเก็บในที่เย็น แห้ง และปิดฝาให้สนิท สำหรับภาชนะบรรจุจะต้องสะอาดและไม่เป็นสนิม ส่วนผงปรุงรสประเภทต่าง ๆ เช่นผงมะนาว, ผงปรุงรสเห็ดหอม, ผงปรุงรสหมู หรือผงปรุงรสอื่น ๆ ควรเก็บในกล่องหรือ โหลสุญญากาศ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความชื้นเพราะความชื้นจะส่งผลให้ผงปรุงรสจับตัวกันเป็นก้อน ควรเก็บไว้ในตู้หรือบริเวณที่ห่างไกลจากแสงแดด เพราะจะทำให้สี กลิ่น และรสชาติของเครื่องปรุงผิดเพี้ยนไป
- นมผง ควรเก็บในที่เย็น เนื่องจากนมผงนั้นสามารถดูดเอาความชื้นจากอากาศเข้าไว้ทำให้จับตัวกันเป็นก้อน ดังนั้นจะต้องบรรจุไว้ในภาชนะที่มีฝาปิดอย่างสนิท
- น้ำตาล ไม่ว่าจะเป็นน้ำตาลทรายขาว และน้ำตาลทรายแดง ล้วนเป็นตัวดูดความชื้น ดังนั้นจะต้องนำออกจากถุงใส่กล่องพลาสติก หรือแก้วที่มีฝาปิดสนิท มิฉะนั้นแล้วน้ำตาลจะดูดความชื้นจากอากาศจนถึงจุดที่มันแฉะ ซึ่งพวกจุลินทรีย์จะเจริญเติบโตได้ดี ทำให้น้ำตาลนั้นมีรสเปรี้ยว สำหรับน้ำตาลละเอียด หรือน้ำตาลไอซิ่ง เมื่อไม่ใช้จะต้องเก็บไว้ในที่แห้ง เพื่อป้องกันการจับตัวเป็นก้อน อย่าใช้ภาชนะที่เป็นโลหะเพราะอาจจะเกิดสนิมได้
- เกลือ ควรเก็บไว้ในภาชนะที่ทำมาจากไม้ ดินเผา แก้ว หรือเซรามิก ที่มีฝาปิดสนิทเพื่อหลีกเลี่ยงการปนเปื้อนจากสิ่งแปลกปลอม และควรเก็บไว้ในที่ร่มและแห้งเพื่อหลีกเลี่ยงความชื้น หากพบเกลือป่นในขวดเกาะกันเป็นก้อน เทออกมาใช้ไม่ได้ นั่นเป็นเพราะมีความชื้นอยู่ภายใน ปัญหานี้แก้ได้โดยตัดกระดาษซับน้ำมันขนาดพอเหมาะแล้วใส่ลงในขวดเกลือ หรือใส่เม็ดข้าวสารเล็กน้อย จะช่วยดูดความชื้น ทำให้เกลือแห้งอยู่เสมอ และไม่จับเป็นก้อน ทั้งนี้ ควรหลีกเลี่ยงการเก็บเกลือไว้ใกล้เตาประกอบอาหารที่มีไอความร้อนเพราะไอความร้อนทำให้เกิดความชื้นนั่นเอง
- ซอสและมายองเนส กรณีที่มายองเนสยังไม่ได้ทำการเปิดใช้ สามารถเก็บไว้ได้ทั้งในตู้เย็นและในอุณหภูมิห้อง แต่หากทำการเปิดใช้แล้วจำเป็นต้องปิดฝาภาชนะหรือปิดปากถุงให้สนิทแล้วนำเข้าไปแช่ในตู้เย็นเท่านั้น เพราะซอสหรือมายองเนสที่เปิดใช้แล้ว สามารถวางไว้ในอุณหภูมิห้องได้ไม่เกิน 8 ชั่วโมง หากเกินจากนั้นจะทำให้เกิดการเน่าเสียได้ สำหรับซอสมะเขือเทศ หรือพิซซ่าซอส โดยปกติแล้วหากยังไม่ได้เปิดใช้สามารถเก็บไว้นอกตู้เย็นได้นานถึง 1 เดือน แต่หากเปิดใช้แล้วควรปิดฝาให้สนิทแล้วนำไปเก็บไว้ในตู้เย็นจะช่วยยืดอายุการใช้งานได้นานยิ่งขึ้น หากผู้ประกอบการท่านใดกำลังมองหาซอสพิซซ่าและมายองเนสคุณภาพดีสามารถกดลิงก์ไปช็อปกันได้เลยที่นี่ พิซซ่าซอส , มายองเนส
- แยม หากยังไม่ได้เปิดฝาขวดจะสามารถเก็บไว้ในอุณหภูมิห้องได้นานถึง 1 ปีนับตั้งแต่วันที่ผลิต แต่สำหรับแยมที่มีการเปิดฝาขวดออกมาใช้แล้วจำเป็นต้องเก็บรักษาไว้ในตู้เย็น และจะต้องใช้ที่ปาดแยม หรือช้อนที่แห้ง และสะอาดในการตักแยมทุกครั้ง เพื่อป้องกันการเกิดเชื้อราในแยม สำหรับแยมชนิดที่มีน้ำตาลหากเปิดฝาใช้แล้วนำไปแช่เก็บไว้ในตู้เย็นจะมีอายุการใช้งานนาน 6 เดือน และแยมชนิดที่ไม่มีน้ำตาล เมื่อเปิดใช้แล้วนำไปแช่ในตู้เย็น จะมีอายุการใช้งานนานถึง 4 เดือนนั่นเอง หากผู้ประกอบการท่านใดกำลังมองหาแยม หลากหลายรสชาติสามารถกดลิงก์ไปช้อปกันได้เลยที่นี่ แยม
- ฟิลลิ่ง หากยังไม่ได้เปิดใช้งานสามารถเก็บไว้ในอุณหภูมิห้องปกติได้นานถึง 1 ปี แต่หากมีการเปิดใช้งานแล้ว ควรปิดปากถุง หรือปิดฝาภาชนะให้สนิทแล้วนำเข้าไปเก็บไว้ในตู้เย็นในระดับความเย็น 4-7 องศาเซลเซียส หากผู้ประกอบการท่านใดกำลังมองหาฟิลลิ่ง มาใช้ทำเมนูเบเกอรี่ขายสามารถกดลิงก์ไปสั่งซื้อกันได้เลยที่นี่ ฟิลลิ่ง
- ไขมัน หรือ น้ำมัน โดยไขมันจากพืชสามารถเก็บได้ในอุณหภูมิห้องนาน 2-3 เดือน ถ้าต้องการเก็บให้ได้นานกว่านี้ต้องเก็บในตู้เย็นและไม่ควรเก็บไว้ใกล้สิ่งที่มีกลิ่น เพราะไขมันนั้นสามารถดูดกลิ่นแปลกปลอมเข้าไว้ได้ง่ายและรวดเร็ว และควรหลีกเลี่ยงการเก็บในที่ที่จะสัมผัสกับแสง อากาศ น้ำ ความร้อน อุณหภูมิสูง ๆ และโลหะ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสาเหตุที่ทำให้ไขมันมีกลิ่นหืนได้ง่าย ส่วนน้ำมันหมูชนิดแข็งควรเก็บในตู้เย็น โดยใส่ภาชนะบรรจุปิดฝาให้สนิท หรือเก็บในอุณหภูมิห้องธรรมดาก็ได้ สำหรับน้ำมันสลัดหรือน้ำมันมะกอกจะมีกลิ่นหืนได้ง่ายหลังจากเปิดฝาแล้ว ดังนั้นหลังเปิดใช้จำเป็นต้องปิดฝาขวดหรือภาชนะบรรจุให้แน่นสนิท แล้วนำไปเก็บแช่ไว้ในตู้เย็นจะเหมาะกว่าการเก็บไว้นอกตู้เย็นหรืออุณหภูมิห้องปกติ
- ช็อกโกแลต สำหรับช็อกโกแลตที่เปิดใช้แล้ว หากเป็นแบบกระปุกแนะนำให้ปิดฝากระปุกให้แน่นสนิท แล้วนำไปแช่ในตู้เย็นในช่องปกติ หรือช่องแช่ผัก เพราะเป็นบริเวณที่มีอุณหภูมิกำลังพอดี ไม่เย็นจนเกินไป หากเป็นช็อกโกแลตแบบถุง ให้ทำการปิดปากถุงให้แน่นสนิท หากผู้ประกอบการท่านใดกำลังมองหาวัตถุดิบอย่างช็อกโกแลตมาประกอบการทำเบเกอรี่สามารถกดลิงก์ไปช้อปกันได้เลยที่นี่ ช็อกโกแลตท็อปปิ้ง
เคล็ดลับการจัดเก็บอุปกรณ์เบเกอรี่ให้ใช้ได้ยาวนาน
- เตาอบ หลังจากใช้เตาอบเสร็จแล้ว ให้ปิดแก๊สให้สนิท หรือถ้าเป็นเตาอบไฟฟ้า ให้ดึงปลั๊กออกทุกครั้ง จากนั้นให้เปิดประตูเตาอบเพื่อระบายความร้อน จนอุณหภูมิเป็นปกติ หลังการใช้งานให้นำผ้าสะอาดมาเช็ดคราบสกปรกออกทุกครั้ง จะได้ไม่สะสมจนกลายเป็นคราบฝังแน่น โดยเช็ดตั้งแต่เตาอบยังอุ่น ๆ จะทำให้ออกง่ายกว่าตอนที่เย็นแล้ว
- ไม้คลึงแป้ง ควรล้างทำความสะอาดทุกครั้งหลังใช้เสร็จ และนำไปผึ่งให้แห้งก่อนนำไปเก็บทุกครั้ง
- ชามผสม หลังจากใช้งานเสร็จแล้ว ควรนำไปล้างให้สะอาด ล้างจนกว่าคราบมัน จะหมดไป จากนั้นให้นำไปวางผึ่งให้แห้ง ก่อนนำไปเก็บ ไม่ควรปล่อยให้ชามผสมมีความชื้นเพราะจะทำให้เกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์และเชื้อราได้
- ถ้วยตวง ควรล้างด้วยน้ำยาทำความสะอาดทุกครั้งหลังการใช้งาน จากนั้นเช็ดให้แห้งด้วยผ้าสะอาด
- หัวบีบและถุงบีบ ควรล้างด้วยน้ำยาทำความสะอาด ให้สะอาดทุกครั้งหลังการใช้งาน จากนั้นเช็ดให้แห้งด้วยผ้าสะอาด เมื่อใช้เสร็จควรล้างทำความสะอาดโดยแช่น้ำร้อน เพื่อให้ครีมที่ติดอยู่ที่ตัวหัวบีบละลายออกมา ห้ามใช้ไม้แคะเด็ดขาด เพราะจะทำให้ลายเสียได้
- เครื่องชั่ง เครื่องชั่งธรรมดาหลังการใช้งานทุกครั้ง ควรทำความสะอาดและเช็ดให้แห้งด้วยผ้าที่สะอาด เก็บเข้าที่ให้เรียบร้อย สำหรับเครื่องชั่งดิจิทัลควรเก็บไว้ในอุณหภูมิที่เหมาะสม ไม่ควรร้อนหรือชื้นจนเกินไป ไม่ควรชั่งของหรือวัตถุที่มีน้ำหนักจนมากเกินไปกว่าพิกัดของเครื่องชั่ง ต้องใช้กระดาษหรือเทปปิดรูเอาไว้ เพื่อป้องกันหนูและแมลงสาบเข้าไปทำลายแผงวงจร ที่สำคัญไม่ควรเสียบชาร์จแบตในระหว่างการใช้งานอาจทำให้แบตเสื่อมได้
- ตะกร้อมือ เมื่อใช้งานเรียบร้อยแล้วควรล้างให้สะอาด และเช็ดให้แห้ง ไม่ควรปล่อยให้ชื้น หรือมีน้ำเกาะ เพราะจะทำให้เกิดสนิมได้ เครื่องผสมแป้ง เมื่อใช้งานเสร็จเรียบร้อยแล้วควรปิดเครื่อง ถอดปลั๊กให้เรียบร้อย หมั่นทำความสะอาดทุกครั้ง โดยเช็ดให้แห้ง ไม่ควรปล่อยให้ชื้น หรือมีน้ำเกาะ เพราะจะทำให้เกิดสนิมได้ ต้องไม่ให้ส่วนที่เป็นมอเตอร์ถูกน้ำ เพราะอาจจะทำให้มอเตอร์เสียหายได้ ควรบำรุงรักษาเครื่องอยู่เสมอ เช่น การใส่จาระบีที่ช่วยในการหล่อลื่นเพื่อป้องกันการสึกหรอของเครื่อง ที่สำคัญหากมีปัญหาเกี่ยวกับกระแสไฟฟ้า ต้องงดใช้เครื่องโดยเด็ดขาด และควรเรียกช่างที่มีความรู้ ความชำนาญโดยตรงมาแก้ไข
- ที่ปาด เมื่อใช้งานแล้วต้องล้างและเช็ดให้แห้งแล้วนำไปเก็บในตู้เก็บอุปกรณ์ให้เรียบร้อย
- ตะแกรงรองอบ หลังจากใช้ตะแกรงแล้ว ควรล้างให้สะอาด โดยเฉพาะที่บริเวณรอยต่อของตะแกรง อย่าให้มีเศษขนมติด จากนั้นให้นำไปผึ่งให้แห้ง
- ถาดรองอบ เมื่อใช้แล้วควรล้างทำความสะอาดจนกว่าคราบมันจะหมดไป จากนั้นให้นำผ้าสะอาดมาเช็ดให้แห้ง
- กระดาษรองอบ ควรเก็บไว้ในที่แห้ง ระวังอย่าให้โดนน้ำ และหลีกเลี่ยงการเก็บไว้ในที่อับชื้น
- บรรจุภัณฑ์
- สำหรับกล่องกระดาษ ให้หลีกเลี่ยงการเก็บในที่อับชื้น และระวังไม่ให้โดนน้ำ
- กล่องพลาสติก ควรจัดเก็บด้วยความระมัดระวัง ไม่ควรวางของหนักทับซ้อนบนกล่อง เพราะจะทำให้เกิดการแตกหักได้ และที่สำคัญควรวางให้พ้นจากแสงแดด เพราะจะทำให้พลาสติกเสื่อมสภาพได้
- ถ้วยฟอยล์ ควรวางไว้ในพื้นที่ที่สะอาด และควรเก็บใส่ในกล่องให้มิดชิด และหลีกเลี่ยงการวางทับด้วยของหนัก เพราะจะทำให้ถ้วยฟอยล์เสียรูป และชำรุดได้
ทุก ๆ เคล็ดลับ และวิธีการในการเก็บรักษาวัตถุดิบและอุปกรณ์เบเกอรี่ที่ ยูนิลีเวอร์ ฟู้ด โซลูชั่นส์ นำมาฝากในวันนี้ คงจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถนำไปปรับใช้ตามกันได้ไม่ยาก และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเคล็ดลับและสาระดี ๆ เหล่านี้จะมีส่วนช่วยในการควบคุมและลดต้นทุนให้กับกิจการเบเกอรี่ของทุกคนได้ แต่หากผู้ประกอบการต้องการหาวัตถุดิบเบเกอรี่ที่มีคุณภาพและราคาย่อมเยามากยิ่งขึ้น ก็สามารถตามไปช้อปวัตถุดิบเบเกอรี่กับเราได้เลย
วัตถุดิบเบเกอรี่คุณภาพดี
เคล็ดลับอื่นๆ สำหรับนักอบเบเกอรี่
สิ่งที่คุณจะได้รับ:
- ฟรี หลักสูตรอบรมด้านธุรกิจอาหารและการทำอาหาร
- สูตรอาหารและเคล็ดลับที่ดีที่สุดจากเชฟทั่วโลก
- เทรนด์การทำอาหารล่าสุด