รวมเรื่องภาษีที่เจ้าของธุรกิจร้านอาหารต้องรู้
เปิดร้านต้องเสียภาษีอะไร ขาดทุนต้องจ่ายภาษีไหม และอีกหลายคำถามที่เจ้าของร้านอาหารควรรู้คำตอบ
ไม่ว่าร้านอาหารจะเล็กหรือใหญ่ มีรายได้ มีกำไร หรือขาดทุนเท่าไหร่ ยังไงก็ต้องยื่นภาษีทุกปี เป็นหน้าที่ตามกฎหมายของทุกคน ส่วนจะต้องเสียภาษีเพิ่มหรือไม่ และเสียเพิ่มเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับเงินได้สุทธิ ค่าใช้จ่าย การลดหย่อนต่าง ๆ และเรื่องภาษีมีรายละเอียดอีกมากมาย วันนี้ ยูนิลีเวอร์ ฟู้ด โซลูชั่นส์จะพามามาค้นพบคำตอบเกี่ยวกับภาษีที่เจ้าของร้านอาหารสงสัย ไปชมกันเลย
เปิดร้านอาหารมีภาษีอะไรบ้างที่ต้องเสีย
- ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา: ต้องแยกบัญชีร้านออกจากบัญชีส่วนตัว และทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายให้ละเอียด เพื่อใช้เป็นหลักฐาน หากถูกตรวจสอบ
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม: คำนวณจาก 7% ของยอดขาย เฉพาะกรณีที่ร้านมีรายได้เกิน 1,800,000 บาทต่อปี
- ภาษีหัก ณ ที่จ่าย: เป็นการจัดเก็บภาษีล่วงหน้า กำหนดให้ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่หักภาษีจากเงินที่จ่ายให้แก่ผู้รับทุกครั้งที่จ่าย ซึ่งเงินที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ได้แก่ ค่าเช่า ค่าจ้าง ค่าจ้างทำของ ค่าโฆษณา ค่าขนส่ง ค่าบริการ เงินปันผล รางวัลจากการชิงโชค ซึ่งมีอยู่หลายอัตรา เช่น ค่าเช่าอาคาร 5% หากร้านมีลูกจ้างที่รายได้เกิน 26,000 บาทต่อเดือน ก็ต้องทำการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามอัตราก้าวหน้า นำส่งสรรพากรภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป
- ภาษีป้าย: กรณีที่ร้านอาหารมีการติดป้ายชื่อร้าน ยี่ห้อ เครื่องหมายการค้า หรือการโฆษณาร้าน ที่ประกอบด้วยอักษร ภาพ ไม่ว่าจะเป็นป้ายทั่วไป ป้ายโฆษณาบนทางด่วน ป้ายผ้าใบ รวมถึงป้ายไฟ โดยเก็บภาษีตามลักษณะป้าย ดังนี้
อัตราภาษีป้าย (ปี 2566) |
||
ประเภทป้าย |
ป้ายที่มีข้อความเคลื่อนที่ หรือเปลี่ยนข้อความได้ |
ป้ายปกติทั่วไป |
มีอักษรไทยล้วน |
10 บาท ต่อ 500 ตร.ซม. |
5 บาท ต่อ 500 ตร.ซม. |
มีอักษรไทยปนกับอักษรต่างประเทศ (รวม ถึงเลขอารบิก) หรือปนกับภาพ และ/หรือ เครื่องหมายอื่น |
52 บาท ต่อ 500 ตร.ซม. |
26 บาท ต่อ 500 ตร.ซม. |
ไม่มีอักษรไทย ไม่ว่าจะมีภาพหรือมี เครื่องหมายใด ๆ หรือไม่ และป้ายที่มี อักษร ไทยบางส่วนหรือทั้งหมดอยู่ใต้หรือ ต่ำกว่าอักษรต่างประเทศ |
52 บาท ต่อ 500 ตร.ซม. |
50 บาท ต่อ 500 ตร.ซม. |
วิธีคำนวณภาษีป้าย
กว้าง x ยาว / พื้นที่ 500 ตร.ซม. = พื้นที่ที่ต้องเสียภาษี
พื้นที่ที่ต้องเสียภาษี x อัตราภาษี = ภาษีป้ายที่ต้องจ่าย
ตัวอย่าง
ป้ายร้านส้มตำ “แอบแซ่บ” มีขนาดกว้าง 1 เมตร ยาว 2.5 เมตร
100 x 250 ซม. / 500 ตร.ซม. = 50 ตร.ซม.
เป็นประเภท “ป้ายที่มีอักษรไทยล้วน” จะคำนวณได้ยอดภาษีที่ต้องจ่าย = 50 x 10 = 500 บาท
5. ภาษีศุลกากร: กรณีที่ร้านสั่งนำเข้าวัสดุ อุปกรณ์ วัตถุดิบที่อยู่ในรายการบัญชีภาษีนำเข้า ซึ่งต้องตรวจสอบอัตราภาษีนำเข้ากับทางศุลกากร เพราะสินค้าแต่ละประเภทมีอัตราต่างกัน
6. ภาษีที่ดิน: ค่าอาคารที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่นำมาทำเป็นร้านอาหาร สามารถนำมาคิดค่าเสื่อม เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายในแต่ละปีได้
เจ้าของร้านอาหารต้องยื่นภาษีอะไร
ตอบ เจ้าของร้านอาหารต้องยื่นภาษีปีละ 2 ครั้ง
ครั้งที่ 1 ยื่น ภ.ง.ด.94 (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดารอบครึ่งปี) ภายในเดือนกันยายน
ครี่งที่ 2 ยื่น ภ.ง.ด.90/91 (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา) ภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป
โดยสามารถยื่นด้วยตัวเองที่สำนักงานสรรพากรทั่วประเทศ หรือยื่นออนไลน์ที่เว็บไซต์ www.rd.go.th
ทั้งนี้ สำหรับการยื่น ภ.ง.ด.90/91 ปลายปี สามารถนำยอดที่เสียภาษีครึ่งปี ภ.ง.ด. 94 ที่จ่ายไปแล้ว มาหักออกได้ เนื่องจากเป็นภาษีจ่ายล่วงหน้า
นอกจากนี้ ร้านที่มีรายได้เกิน 1,800,000 ต่อปี ต้องขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat 7%) ที่สำนักงานสรรพากรในพื้นที่ก่อนภายใน 30 วัน และต้องยื่นภาษีแบบ ภ.พ.30 ก่อนวันที่ 15 ของทุกเดือนด้วย
โดยสามารถยื่น ภ.พ.30 ได้ที่สำนักงานสรรพากรในเขตพื้นที่ หรือยื่นออนไลน์ที่เว็บไซต์ www.rd.go.th ก่อนวันที่ 15 ของเดือนถัดไป
ร้านอาหารมีรายได้เท่าไหร่ถึงต้องเสียภาษี
- ร้านอาหารที่มีรายได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาทต่อปี ไม่ต้องเสียภาษี แต่ต้องยื่นภาษี
- ร้านที่มีรายได้สุทธิ 150,001 บาทต่อปีขึ้นไป ต้องเสียภาษี และสามารถยื่นลดหย่อนภาษีได้
วิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
เงินได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิ
เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี = เงินที่ต้องจ่าย
เงินได้ = รายได้ที่ได้จากการเปิดร้านอาหาร หากมีรายได้อื่น ๆ ก็ต้องนำมาคำนวณด้วย
ค่าใช้จ่าย = สิ่งที่กฎหมายกำหนดให้หัก ซึ่งมีทางเลือกในการหักค่าใช้จ่าย 2 ทาง คือ หักเหมา 60% หรือ หักตามจริง
ค่าลดหย่อน = ค่าลดหย่อนภาษีที่กฏหมายกำหนดให้นำไปหักออกจากเงินได้ เช่น ลดหย่อนส่วนตัว เบี้ยประกัน ลดหย่อนภาษีจากค่าเสื่อม และค่าสึกหรอของอุปกรณ์ หรืออาคาร
ติดตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และข่าวสารภาษีจากกรมสรรพากร ได้ที่ www.rd.go.th/272.html
เจ้าของร้านอาหารต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้างในการยื่นภาษี
เอกสารบันทึกและเอกสารประกอบรายได้และค่าใช้จ่าย มีบัญชีรายรับ-รายจ่ายที่เก็บรายละเอียดการจ่าย การรับทุกยอด และกำไรที่ได้ต่อวันไว้ พร้อมเอกสารหลักฐาน
โดยเอกสารที่นำมาใช้หักค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษี ตัวอย่างเช่น 1) ใบเสร็จรับเงิน 2) ใบกำกับภาษี 3) บิลเงินสด 4) ใบสำคัญรับเงิน ควรมีข้อมูลชื่อและที่อยู่ของผู้ซื้อและผู้ขาย หมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษี หรือ หมายเลขบัตรประชาชนของคู่ค้า รายละเอียดสินค้าหรือบริการ จำนวนเงิน ซึ่งรายจ่ายที่เกิดขึ้นนั้น จะต้องเกี่ยวข้องกับธุรกิจหรือกิจการที่ทำอยู่
ค่าใช้จ่ายที่สามารถนำมาหักรายได้เพื่อคำนวณภาษีได้ มีลักษณะดังนี้
- รายจ่ายที่เกี่ยวกับการดำเนินงานทั้งหมด เช่น ค่าแรงพนักงาน ค่าวัตถุดิบ ค่าอุปกรณ์ในการทำอาหาร ซึ่งต้องมีหลักฐานการจ่ายเงินอย่างถูกต้อง
- ค่าอาคารที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่นำมาทำเป็นร้านอาหาร
- ค่าเช่าที่ดิน ค่าเช่าอาคาร เพื่อทำร้านอาหาร
- ดอกเบี้ยจากการกู้เงินมาลงทุนเปิดร้านอาหาร
*ควรศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม และเงื่อนไขของเอกสารที่นำมาใช้กับทางสรรพากรเพิ่มเติม
ขายอาหารในแอปเดลิเวอรี ไม่มีหน้าร้านต้องยื่นภาษีไหม
ร้านที่เปิดขายผ่านแอปเดลิเวอรีอย่างเดียว หรือมีหน้าร้านด้วยก็ตาม ต้องยื่นภาษีทุกปีเหมือนร้านอาหารทั่วไป โดยให้นำรายได้จากทุกช่องทางการขายมารวมกัน เพื่อใช้คำนวณอัตราการเสียภาษี
ขาดทุนหรือปิดร้านอาหารยังต้องยื่นและเสียภาษีไหม
ต้องยื่นภาษี ไม่ว่าจะเปิดร้านแล้วรายได้ไม่ดี ไม่มีกำไร หรือปิดกิจการ
สำหรับบุคคลธรรมดาไม่ต้องแจ้งการปิดกิจการ แต่ต้องยื่นภาษีประจำปีตามความเป็นจริง ซึ่งหากมีหลักฐาน เช่น มีบัญชี มีใบเสร็จต่าง ๆ ถูกต้องครบถ้วน หรือมีการจดทะเบียน และสามารถพิสูจน์ได้ว่าขาดทุน หรือเงินได้สุทธิไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี ก็ไม่ต้องเสียภาษี
หากไม่เสียภาษี จะเป็นยังไง
หากไม่ทำการยื่นภาษี หรือไม่ชำระภาษีภายในกำหนดเวลา หรือแสดงหลักฐานเท็จ อาจถูกกรมสรรพากรตรวจสอบ และจะโดนปรับย้อนหลังจนอ่วม ร่วมถึงมีโทษจำคุก และผลกระทบอื่นๆมากมายตามกฎหมายแล้วเเต่กรณี
หวังว่าผู้ประกอบการร้านอาหารจะเข้าใจเรื่องการยื่นภาษีมากขึ้น ผู้ประกอบจึงควรศึกษาเรื่องภาษีให้ดี และทำการยื่นภาษีให้ถูกต้องครบถ้วน
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องภาษีได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th
ข้อมูลอ้างอิง
www.rd.go.th
www.itax.in.th/pedia/
www.getinvoice.net/restaurant-tax/
เรียนฟรีคอร์สการจัดการร้านอาหารและคอร์สอื่นๆ อีกมากมาย
ลงทะเบียนเรียนออนไลน์ คอร์สเรียนออนไลน์ฟรีสำหรับเชฟและผู้ประกอบการร้านอาหาร คอร์สใหม่อัพเดททุกเดือน
เทคนิคอื่นๆ สำหรับจัดการร้านอาหาร
สิ่งที่คุณจะได้รับ:
- ฟรี หลักสูตรอบรมด้านธุรกิจอาหารและการทำอาหาร
- สูตรอาหารและเคล็ดลับที่ดีที่สุดจากเชฟทั่วโลก
- เทรนด์การทำอาหารล่าสุด