เทรนด์อาหารกำลังมาแรงปี 2022: อาหารเชิงท่องเที่ยว
Gastronomy Tourism
มาตรการล็อกดาวน์ที่ปิดพรมแดนทั้งจังหวัดและประเทศอันเนื่องมาจากโรคระบาดโควิด-19 นั้น ส่งผลให้ผู้คนโหยหาการเดินทางท่องเที่ยวอย่างที่เคยไปไหนมาไหนได้อิสระก่อนหน้านี้ และวิธีหนึ่งที่ทำได้ก็คือ การเดินทางผ่านอาหาร หรือการทานอาหารเชิงท่องเที่ยว เพราะอาหารคือตัวแทนหรือสิ่งที่อธิบายได้ถึงความเป็นมาของวัฒนธรรมในท้องถิ่นนั้นๆ
ช่วงที่กิจกรรมนอกบ้านไม่สามารถดำเนินไปอย่างปกติ ผู้คนมองหาความบันเทิงหรือความรื่นรมย์ในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการทดลองทำอาหารเมนูใหม่ๆ เองที่บ้าน หรือแม้แต่อาหารที่สั่งมากินที่บ้าน นอกจากสะดวก ราคาคุ้มค่าแล้ว พวกเขายังมองหาความสนุกในการกินที่ส่งมอบความรู้สึกของการเดินทางท่องเที่ยวได้ เพียงแค่สัมผัสรสชาติแบบท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ การลิ้มรสก็จะช่วยดึงเอาความทรงจำ ประสบการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับการท่องเที่ยวของเรากลับขึ้นมาใหม่ แม้ตัวจะไม่ได้ไปเยือน
ไม่เว้นแม้แต่อาหาร ready-to-eat หรืออาหารกล่องพร้อมอุ่นตามซูเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านสะดวกซื้อ ก็จะต้องมีการคิดค้นเมนูใหม่ๆ มานำเสนออยู่ตลอด เช่น เบนโตะอาหารญี่ปุ่น อาหารกล่องเกาหลี ขนมตามเทศกาล หรือขนมโดรายากิแบบในการ์ตูนญี่ปุ่น โดยการมาประยุกต์กับวัตถุดิบแบบไทย เพื่อสร้างสีสันความสนุกให้ตอบโจทย์สิ่งที่คนกำลังมองหาหรือโหยหาอยู่ ณ ช่วงเวลานั้น
การท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism)
รู้หรือไม่ว่าอาหารนับเป็นปัจจัยสำคัญของประสบการณ์ในการท่องเที่ยว อาหารกลายเป็นแรงจูงใจหลักในการเลือกสถานที่ท่องเที่ยว ผู้คนมักค้นหาอาหารท้องถิ่นที่แปลกใหม่และไม่เคยลอง โดยมีผลสำรวจระบุว่าค่าใช้จ่าย 1 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวมักใช้ไปกับค่าอาหารและเครื่องดื่ม
ในแต่ละพื้นที่มีเอกลักษณ์ท้องถิ่นที่แตกต่างกันออกไป สะท้อนผ่านวัฒนธรรมการกินอาหารตามแบบฉบับของตนเอง และอาหารก็เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการออกท่องเที่ยว โดยผลสำรวจระบุว่า นักท่องเที่ยวกว่า 53% เลือกสถานที่ท่องเที่ยวจากอาหารและเครื่องดื่ม จึงเกิดแนวคิดเรื่อง ‘การท่องเที่ยวเชิงอาหาร’ ขึ้นในหลายประเทศ และประเทศไทยเองก็มี ‘อาหาร’ ที่เป็นสิ่งจูงใจอันดับหนึ่งที่ทำให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกอยากเดินทางมา
ในประเทศไทย
เชียงใหม่
จังหวัดยอดนิยมอันดับ 1 ในภาคเหนือ
จุดขายของเชียงใหม่ คือเป็นภูเขาสูง มียอดดอยให้เที่ยวหลายแห่ง ธรรมชาติสวย อากาศเย็นสบาย และมีวัฒนธรรมล้านนาเป็นเอกลักษณ์ รวมถึงวิถีชีวิต slow life ที่ทำให้กลายเป็นเมืองศิลปะ มีสตูดิโอ ถนนคนเดิน คาเฟ่และแกลเลอรี่มากมาย ที่สำคัญมีอาหารพื้นเมืองที่เป็นเอกลักษณ์ ผสมผสานวัฒนธรรมการกินจากหลายกลุ่มชน มีการจัดจานที่สวยงาม ตามนิสัยของคนเหนือที่เนิบช้าและอ่อนโยน ทั้งยังเน้นการบริโภคผัก
เมนูอาหารเหนือยอดนิยม เช่น ข้าวซอย ขนมจีนน้ำเงี้ยว น้ำพริกหนุ่ม ข้าวแต๋น ลาบหมูคั่ว ไส้อั่ว ไข่ป่าม
วิถีการกินที่น่าสนใจ: มักเสิร์ฟผ่านขันโตก หรือภาชนะจักสานที่มีฐานรองสูงใช้จัดวางอาหารมาพร้อมกัน เพราะในอดีตคนนั่งทานกับพื้น การใช้นิ้วปั้นข้าวเหนียวเป็นก้อนกลมให้แน่น เพราะเวลาจิ้มน้ำพริกน้ำแกงจะได้ไม่แตก
เรื่องน่ารู้
- ข้าวเหนียวยังคงเป็นส่วนสำคัญของวิถีชาวเหนือรวมถึงชาวอีสานในปัจจุบันแม้ว่ากระแสรักสุขภาพกำลังมาแรงก็ตาม และส่วนใหญ่ก็จะเลือกกินข้าวเหนียวอย่างน้อยวันละมื้อ
- ข้าวยุคแรกของมนุษย์ คือข้าวเหนียว ไม่ใช่ข้าวสวย มีหลักฐานปรากฏที่บ้านเชียงและถ้ำปงคง จ.แม่ฮ่องสอน โดยข้าวที่พบมีอายุ 4,000-5,000 ปี
ภูเก็ต
ไข่มุกแห่งอันดามัน เป็นเกาะขนาดใหญ่ที่สุดของไทย มีทะเลที่สวยงามจนมีชื่อเสียงไปทั่วโลก
จุดขายของภูเก็ต นอกจากกิจกรรมทางน้ำมากมายตามเกาะแก่งต่างๆ แล้ว ก็ยังมีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่แตกต่าง เพราะอดีตเคยเป็นแหล่งค้าขายมาก่อน มีทั้งชาวเปอรานากัน ซึ่งเป็นชาวจีนเชื้อสายมลายูที่อพยพเข้ามาอยู่อาศัยตั้งแต่ในอดีต และชาวตะวันตกเข้ามาค้าขาย เกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรม แสดงออกให้เห็นผ่านสถาปัตยกรรมแบบชิโนโปรตุกีส
ในย่านเมืองเก่า รวมไปถึงเรื่องอาหารการกินที่ผสมผสานหลากหลายวัฒนธรรมเข้าด้วยกันจนเกิดเป็นเอกลักษณ์
เมนูอาหารภูเก็ตยอดนิยม: หมูฮ้อง หมี่สะปำ แกงปูใบชะพลู ติ่มซำ เน้นตัวแป้งหนา นิยมทานช่วงเช้า ขนมจีนภูเก็ต ทานกับผักหลายชนิด และขนมอย่าง โอ้เอ๋ว คล้ายน้ำแข็งไส ลักษณะเป็นวุ้น เวลากินจะตัดวุ้นออกเป็นชิ้นสี่เหลี่ยม นำมาโปะน้ำแข็งไส ราดน้ำเชื่อม อาโป๊ง กรอบนอกนุ่มใน ทานคู่กับชากาแฟ
วิถีการกินที่น่าสนใจ: อาหารของภูเก็ตผูกพันกับวัฒนธรรม ประเพณี และเทศกาลต่างๆ ที่ได้รับการสืบสานจากรุ่นสู่รุ่นนับร้อยปี เช่น วิถีอาหารเปอรานากัน ที่ผสมผสานความเป็นมลายูและจีนเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน โดยนำส่วนประกอบของอาหารจีน เช่น หมู ซีอิ๊ว เต้าหู้ยี้ มาปรุงร่วมกับกะทิ และเครื่องผัดของชาวมลายูเริมปะห์ (Rempah) ประเพณีถือศีลกินผักของลูกหลานจีนฮกเกี้ยน
ต่างประเทศ
ญี่ปุ่น
คนไทยเสพสื่อจากญี่ปุ่นมากมาย ทั้งการ์ตูนอะนิเมะ ภาพยนตร์ และดนตรี J-Pop J-Rock ทำให้ผู้บริโภคซึมซับวัฒนธรรมญี่ปุ่น จนกลายเป็นประเทศที่เป็นหมุดหมายในการท่องเที่ยวของคนไทย ยังมีสถิติออกมาว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยไปเยือนญี่ปุ่นในแต่ละปีเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
จุดขายของญี่ปุ่น คือ ภูมิประเทศเป็นเกาะ มีปลาหลายชนิดที่สดใหม่ ซาชิมิชั้นเลิศ ขณะเดียวกันลักษณะนิสัยคนญี่ปุ่นก็มีความพิถีพิถันในรายละเอียด อย่างขั้นตอนการทำอาหาร เทคนิคการแล่ปลา ความใส่ใจในการบรรจงสร้างบรรจุภัณฑ์ที่สวยและเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงมักจะแฝงปรัชญาความลึกซึ้งอยู่ในเบื้องหลังของทุกอย่างเสมอ เช่น พิธีชงชา ที่จัดพิธีในห้องเล็กๆ ตกแต่งอย่างเรียบง่าย ใช้อุปกรณ์ชงชาที่ปั้นด้วยมือ เพื่อฝึกให้มีจิตใจที่สงบ และชื่นชมกับความงามที่ไม่สมบูรณ์จากความบิดเบี้ยวหรือขรุขระตามธรรมชาติ
เมนูอาหารญี่ปุ่นยอดนิยม: ซูชิ ชาชิมิ ราเมง นาเบะ เนื้อย่าง
วิถีการกินที่น่าสนใจ : วิธีการจับตะเกียบกินซูซิที่ถูกต้อง ด้วยการคีบตะเกียบด้านหนึ่งที่ปลาและอีกด้านที่ข้าว เพื่อให้กินเป็นคำพร้อมกันทั้งปลาและข้าว เวลาจิ้มโชยุให้ใช้ด้านปลาสัมผัสกับซอส เพื่อไม่ให้ด้านข้าวดูดซึมโชยุมากเกินไปทำให้เสียรสชาติ, วิธีการกินเส้นราเมนแบบญี่ปุ่นที่ต้องซู้ดเส้นให้หมดในคำเดียว ไม่ใช้วิธีการกัดเส้นให้ขาด การซู้ดเส้นจะทำให้มีลมมาช่วยให้เส้นเย็นเร็วขึ้น การทานราเมนเสียงดังยังช่วยกระตุ้นต่อมน้ำหลังคอไปด้านหลังของจมูก ซึ่งช่วยให้สมองตอบสนองต่อรสชาติได้ดีขึ้น
เกาหลี
เป็นกระแสที่ได้รับความนิยมจากคนไทยมาตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ จากเทรนด์ดนตรี K-Pop และซีรีส์ต่างๆ ทำให้คนอยากไปตามรอย
จุดขายของเกาหลี คือ ความเรียบง่ายและมินิมัลในวิถีชีวิตแต่มีเสน่ห์ เช่น การแต่งหน้าที่เน้นความเป็นธรรมชาติ เสื้อผ้าเน้นสีเรียบแต่มีโครงที่ชัดเจน ดูโดดเด่นโดยไม่ต้องประโคมเยอะ เรื่องการกินก็มีสีสันอยู่เพียง 5 สีหลัก ได้แก่ เขียว แดง เหลือง ขาว ดำ แต่ละสีหมายถึงทิศทางองค์ประกอบทางธรรมชาติและประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองสูง
เมนูยอดนิยม เช่น ต๊อกบกกี คิมบับ รามยอน (มาม่าเกาหลี) กิมจิ จับแช ทักคังจอง (ไก่ทอดเกาหลี) จาจังมยอน บิบิมบับ ปูดองซีอิ๊ว
วิถีการกินที่น่าสนใจ : คนเกาหลีนิยมกินผักเป็นส่วนประกอบสำคัญในทุกเมนู กิมจิ เป็นเครื่องเคียงที่สามารถทานร่วมกับอาหารเกาหลีได้ทุกเมนู วิธีการกินหมูย่างเกาหลีแบบซัม หรือการกินแบบคำโตๆ ที่รวมมีทั้งผักกาดหอม ใบงา
กิมจิ หมูย่าง ข้าว กระเทียม ซอส หัวหอม พริกและเครื่องเคียงอื่นๆ ไว้ในคำเดียว เพื่อให้ความอร่อยเต็มคำแบบครบรส
เรื่องน่ารู้
เป็นเรื่องแปลกที่แทบทุกท้องถิ่นมักจะมี 'ของเน่า' หรืออาหารหมักดองขึ้นชื่อเป็นของตัวเอง ที่จริงมันคือหนึ่งในวิธีการถนอมอาหาร และเป็นเครื่องมือที่ใช้อธิบายรากเหง้าและความเป็นมาในอดีต บ่งชี้ตัวตน เพราะเป็นภูมิปัญญาการคิดค้นของบรรพบุรุษซึ่งเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ เช่น รู้ได้อย่างไรว่าของเน่าแต่ละเมนูต้องหมักใส่ภาชนะใด หมักนานแค่ไหนถึงจะอร่อย และที่สำคัญไม่ทำให้ท้องเสีย รสชาติของอาหารหมักดองของพื้นที่นั้นๆ จึงมีเอกลักษณ์เฉพาะ และพาเราเดินทางผ่านอาหารไปในแต่ละพื้นถิ่นได้อย่างน่าสนุก
- ภาคอีสาน > ปลาร้า ใส่ในเมนู ส้มตำ แกงอ่อมหมู ปลาร้าหลน
- ภาคใต้ > น้ำบูดู ใส่ในเมนู ข้าวยำน้ำบูดู บูดูทรงเครื่อง บูดูหลน
- ภาคเหนือ > ถั่วเน่า ใส่ในเมนู จอผักกาด น้ำพริกอ่อง ขนมจีนน้ำเงี้ยว
- เกาหลี > กิมจิ เครื่องเคียงที่ทานร่วมกับอาหารใดก็ได้
- ญี่ปุ่น > โชยุ เครื่องปรุงประจำครัวญี่ปุ่น เป็นส่วนผสมของอาหารแทบทุกชนิด
เคล็ดลับการใช้วัตถุดิบท้องถิ่นทำเมนูอาหารเชิงท่องเที่ยว
การเตรียมเมนูอาหารท้องถิ่น เพื่อมอบประสบการณ์เดินทางผ่านอาหารเชิงท่องเที่ยวให้ผู้บริโภคที่โหยหา หัวใจหลักคือวิธีการทำอาหารและการปรุงรสที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยสามารถประยุกต์ใช้วัตถุดิบของไทยทดแทนได้ โดยที่ไม่ทำให้เสียรสชาติแบบดั้งเดิม หรืออีกหนึ่งวิธี คือการเลือกใช้วัตถุดิบที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นถิ่น นำมาทำอาหารด้วยวิธีการปรุงอาหารแบบไทย ก็สร้างความรู้สึกในการเดินทางผ่านรสชาติได้
ไทยภาคเหนือ: ไส้อั่ว
ไส้อั่ว พระเอกของเมนูอาหารพื้นเมืองภาคเหนือ หนึ่งในเมนูที่อยู่ในขันโตก ทำจากเนื้อหมูบด ผสมเครื่องแกง กรอกลงไปในไส้อ่อนของหมู แล้วนำมาย่าง เป็นวิธีการถนอมอาหาร ให้สามารถรับประทานได้นานขึ้น
เคล็ดลับการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น : โขลกเครื่องแกง (พริกแห้ง ข่าหั่น ตะไคร้ซอย หอมแดง กระเทียม กะปิ เกลือ) ให้ละเอียดด้วยครกเพื่อดึงกลิ่นหอมจากน้ำมันหอมระเหยที่อยู่ในสมุนไพรไทยออกมาให้ชัดเจน ใช้วิธีการย่างถ่านไม้ด้วยไฟอ่อนจะช่วยให้ไส้อั่วมีกลิ่นหอมน่าทาน ระหว่างย่างไฟ ไม้จิ้มเพื่อระบายอากาศเพื่อไม่ให้ไส้แตก
ญี่ปุ่น-ไทย: อูด้งต้มยำมะนาว
อูด้งต้มยำมะนาว อูด้ง น้ำซุปสึยุร้อนๆ พร้อมเนื้อสัตว์ตามชอบ โรยหน้าด้วยต้นหอม สาหร่าย และพริกป่นญี่ปุ่น เป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ของอาหารญี่ปุ่น นำมาประยุกต์เข้ากับเมนูก๋วยเตี๋ยวต้มยำมะนาว ให้รสชาติจัดจ้านแบบไทย เป็นอาหารเชิงท่องเที่ยวแบบฟิวชั่น
เคล็ดลับการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น : วิธีลวกเส้นอูด้งให้อร่อยที่สุด คือการลวกเส้นตอนน้ำเดือด คนเส้นเล็กน้อยเพื่อไม่ให้เส้นจับตัว เมื่อเส้นในหม้อต้มเริ่มเคลื่อนไหวสะบัดไปมา ให้หรี่เป็นไฟกลางแล้วต้มต่อจนครบตามเวลาที่กำหนด จากนั้นกรองด้วยตะแกรง แล้วล้างน้ำเย็นเพื่อล้างแป้งที่ติดอยู่ในเส้นและ เป็นการหยุดการสุกของเส้นเพื่อให้เส้นยังคงเด้งนุ่มน่าทาน
เกาหลี: ซุปกิมจิ
ซุปกิมจิ เมนูยอดฮิตที่เข้าร้านอาหารเกาหลีต้องห้ามพลาด เมนูที่เป็นตัวแทนของซีรีส์เรื่องดังอย่าง Itaewon Class ที่ชวนหลายคนต้องหาทานเพื่อตามรอย
เคล็ดลับการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น : กิมจิ โคชูจัง (พริกแกงเกาหลี) และพริกป่นเกาหลี คือส่วนประกอบหลักของเมนูซุปกิมจิที่เราสามารถใช้พริกแกงส้ม มาเป็นวัตถุดิบทดแทนความเผ็ดร้อนจากพริกเกาหลีได้ โดยยังคงรสชาติซุปกิมจิแบบต้นตำรับไว้ และได้รสชาติความเปรี้ยว เผ็ด ที่จัดจ้านชัดเจนขึ้นจากพริกแกงของไทย
เกาหลี: ไก่ทอดเกาหลี
ไก่ทอดเกาหลี ไก่ทอดราดซอสเกาหลีที่อยู่ในซีรีส์แทบจะทุกเรื่อง ชวนให้คนไทยอยากลิ้มลองรส และกลายเป็นอีกหนึ่งเมนูที่เมื่อนึกถึงเกาหลีเมื่อไหร่ ต้องหาเมนูอาหารเชิงท่องเที่ยวอย่างไก่ทอดเกาหลีมาทาน
เคล็ดลับการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น : ความพิเศษของไก่ทอดเกาหลีอยู่ที่การคลุกเคล้าซอสสูตรเฉพาะที่แตกต่างกันไปเพื่อเพิ่มรสชาติหลังจากทอดเสร็จ โดยส่วนประกอบหลักของซอสที่พบบ่อยในหลายสูตร คือ กระเทียม น้ำผึ้ง โคชูจัง ซอสถั่วเหลือง ในครัวไทยสามารถนำวัตถุดิบที่ให้รสเผ็ด เปรี้ยว หวาน มาใช้ทดแทนได้ เช่น นำพริกแกงใช้แทนโคชูจังเพื่อให้รสเผ็ด ใช้มะขามเปียกเพื่อให้รสเปรี้ยว ใช้น้ำตาลโตนดเพื่อให้ความหวาน
เรื่องน่ารู้ของ 'ของเน่า'
เป็นเรื่องแปลกที่แทบทุกท้องถิ่นมักจะมี ‘ของเน่า’ หรืออาหารหมักดองขึ้นชื่อเป็นของตัวเอง ที่จริงมันคือหนึ่งในวิธีการถนอมอาหาร และเป็นเครื่องมือที่ใช้อธิบายรากเหง้าและความเป็นมาในอดีต บ่งชี้ตัวตน เพราะเป็นภูมิปัญญาการคิดค้นของบรรพบุรุษซึ่งเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ เช่น รู้ได้อย่างไรว่าของเน่าแต่ละเมนูต้องหมักใส่ภาชนะใด หมักนานแค่ไหนถึงจะอร่อย และที่สำคัญไม่ทำให้ท้องเสีย รสชาติของอาหารหมักดองของพื้นที่นั้นๆ จึงมีเอกลักษณ์เฉพาะ และพาเราเดินทางผ่านอาหารไปในแต่ละพื้นที่ได้อย่างน่าสนุก
- ภาคอีสาน: ปลาร้า ใส่ในเมนูส้มตำ แกงอ่อมหมู ปลาหร้าหลน
- ภาคใต้: น้ำบูดู ใส่ในเมนูข้าวยำน้ำบูดู บูดูทรงเครื่อง บูดูหลน
- ภาคเหนือ: ถั่วเน่า ใส่ในเมนูจอผักกาด น้ำพริกอ่อง ขนมจีนน้ำเงี้ยว
- เกาหลี: กิมจิ เครื่องเคียงที่ทานร่วมกับอาหารใดก็ได้
- ญี่ปุ่น: โชยุ เครื่องปรุงประจำครัวญี่ปุ่น เป็นส่วนผสมของอาหารแทบทุกชนิด
เทคนิคนำเสนออาหารเชิงท่องเที่ยวผ่านประสบการณ์ดิจิทัล
เชื่อมต่อผู้บริโภคกับอาหารแต่ละท้องถิ่น ให้คนรู้สึกเหมือนได้ออกเดินทางไปเที่ยวจริงๆ ผ่านวิธีการแบบดิจิทัล
สแกน QR Code ที่แนบมาพร้อมจานอาหาร
ร้านอาหารและบุคคลทั่วไปสามารถเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลอาหารออนไลน์ (Virtual Food Festival)
- เทศกาลอาหารยุโรป นำเสนอผลิตภัณฑ์ด้านอาหารทางการเกษตรจากสหภาพยุโรป (EU) มีการเปิดลงทะเบียนให้คนเข้าร่วมงาน มีเชฟมาแนะนำวัตถุดิบที่ใช้ในอาหารยุโรป อธิบายขั้นตอนและกรรมวิธีในการได้มาซึ่งวัตถุดิบอันปลอดภัย ปลอดสารเคมี ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ต่อด้วยการสาธิตวิธีการปรุง และจัดส่งวัตถุดิบเหล่านั้นไปตามบ้านผู้ที่สนใจพร้อมแนบวิธีการปรุงอาหารยุโรป อย่าง พิซซ่า ริซอตโต ด้วยตนเอง
- เทศกาลอาหารสิงคโปร์ เป็นส่วนหนึ่งภายใต้แคมเปญการท่องเที่ยวสิงคโปร์ แม้จะปรับเปลี่ยนมาเป็นรูปแบบอีเวนต์ออนไลน์ ก็ยังคงนำเสนอวัฒนธรรมอาหารที่มีชีวิตชีวาของสิงคโปร์ได้อย่างเต็มเปี่ยม มีการพาไปตระเวนกินของอร่อยในย่านพื้นที่ต่างๆ รอบเกาะสิงคโปร์ แนะนำอาหารท้องถิ่น เช่น เมนูปูเสฉวน ไข่เจียวหอยนางรม ทาร์ตไข่และโกปี๊แบบดั้งเดิม ค็อกเทลแบบเปอรานากัน ฯลฯ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นเทศกาลอาหารเชิงท่องเที่ยวอย่างแท้จริง นอกจากนั้นในงานมาพร้อมการจัดตารางมาสเตอร์คลาสทำอาหารหรือเครื่องดื่มกับเชฟและบาร์เทนเดอร์ชื่อดังทั้งแบบฟรีและมีค่าใช้จ่าย ผู้สนใจสามารถสั่งซื้อกล่องวัตถุดิบไปทำเองที่บ้านได้ ต่อด้วยการสั่งเมนูเด็ดจาก 10 ร้านอาหารสิงคโปร์ชื่อดังในไทย โดยการท่องเที่ยวสิงคโปร์ประจำประเทศไทย ร่วมกับ LINE MAN ทำโปรโมชั่นให้ผู้สนใจสามารถลิ้มลองอาหารถึงบ้านในราคาพิเศษ เช่น ร้าน Boon Tong Kee, Baba Thai, Chuan Kitchen, JUMBO Seafood, Pui Peng Bak Kut The, Sarnies, Sergeant Kitchen, So Shiok, Song Fa Bak Kut Teh และ Ya Kun Kaya Toast เป็นต้น
เมนูอาหารเชิงท่องเที่ยวที่แนะนำ
แจกฟรี! อีบุ๊ค (E-Book) รวมเทรนด์อาหารกำลังมาแรงปี 2022
หนังสืออิเล็กทรอนิกส์รวบรวมเทรนด์อาหารที่สําคัญของปี 2022 มาพร้อมสูตรลับการปรุงอาหารเพื่อรังสรรค์เมนูที่โดดเด่นด้วยความหลากหลายของวัตถุดิบ เหมาะอย่างยิ่งกับผู้ประกอบการธุรกิจอาหารและผู้ที่สนใจ