เทรนด์อาหารกำลังมาแรงปี 2022: อาหารเพื่อสุขภาพ
HEALTHIER INDULGENCE
การระบาดของโรค COVID-19 ที่ยาวนานมาตั้งแต่ปลายปี 2019 ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของคนเราไปอย่างสิ้นเชิง ไม่ใช่แค่การทำงาน การใช้ชีวิตในที่สาธารณะ แต่ยังเป็นตัวเร่งให้ผู้คนหันมาใส่ใจเรื่องอาหารการกินและสุขภาพมากขึ้น เป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย
ผลสำรวจแสดงให้เห็นว่าคนไทยกว่า 7 ใน 10 คนต้องการกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น โดยกว่า 53 % ยอมจ่ายมากกว่าเดิมเพื่อให้ได้อาหารสุขภาพคุณภาพดี โดยปัจจุบันมีทางเลือกของ ‘อาหารสุขภาพ’ หลากหลายรูปแบบ ให้ได้เลือกกินตามความเหมาะสมของไลฟ์สไตล์แต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นอาหารคลีน อาหารออร์แกนิก อาหารลดแป้งเน้นไขมันอย่างคีโตเจนิก และการกินอาหารจากพืชผักอย่าง Plant-based เป็นต้น
สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงในการรับประทานอาหารสุขภาพ คือ ต้องได้รับสารอาหารครบ 5 หมู่ เสริมภูมิคุ้มกัน และมีราคาไม่แพงเกินไป ซึ่งสารอาหารที่เป็นที่ต้องการมากขึ้นก็มักจะเป็นกลุ่มที่เชื่อว่ามีฤทธิ์ในการป้องกันหรือต่อสู้กับเชื้อโรคได้ เช่น อาหารที่มีส่วนผสมของวิตามินซี สารเบต้ากลูแคน (Beta-glucan) เบต้าแคโรทีน (Beta-carotene) เอ็กไคนาเซีย (Echinacea) และกลุ่มสมุนไพรไทยเสริมภูมิคุ้มกัน เช่น กระเทียม กระชาย และขมิ้น
ในเมืองไทยเราเองก็มีวัตถุดิบเพื่อสุขภาพอยู่มากมาย ทั้งมีคุณประโยชน์สูง ให้สารอาหารครบ หาง่าย และราคาย่อมเยา เราลองไปดูตัวอย่างกัน!
ซุปเปอร์ฟู้ด อาหารเพื่อสุขภาพโภชนาการสูง คุณประโยชน์ครบ 5 หมู่
1. โปรตีนดีๆ ที่กินแทนเนื้อได้
เห็ดปุยฝ้าย
หรือหากจะเรียกให้คุ้นหูขึ้นหน่อยคงเป็น ‘เห็ดยามาบูชิตาเกะ’ มีสีขาว รูปร่างปุกปุยเหมือนปุยฝ้าย สารอาหารนั้นเต็มเปี่ยม มีโปรตีนในระดับที่แทนเนื้อสัตว์ได้ รวมถึงมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง และช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันอีกด้วย เห็ดกลุ่มนี้เป็นที่นิยมมากในเอเชีย และมีตลาดที่เติบโตกว่า 8 เปอร์เซ็นต์ทุกๆ ปีและเป็นวัตถุดิบอันดับต้นๆ ของอาหารสุขภาพ
แนะนำวิธีกิน: นำไปประกอบอาหารได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นต้มจืด ยำ หรือไข่เจียวเห็ดปุยฝ้ายก็ได้
เมล็ดฟักทอง
อีกหนึ่งธัญพืชสารพัดประโยชน์ที่หาได้ง่าย เมล็ดจิ๋วแต่แจ๋วเพราะโปรตีนสูงจนมักนำไปผลิตเป็นผงโปรตีน โดยเมล็ดฟักทอง 100 กรัมมีโปรตีนถึง 30 กรัม นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งแร่ธาตุสังกะสีและแมกนีเซียมที่ช่วยบำรุงเลือดลมได้ดี มีงานวิจัยออกมาว่าเมล็ดฟักทองสามารถช่วยต้านไวรัสได้อีกด้วย จึงทำให้ตลาดของเมล็ดฟักทองเติบโตอย่างต่อเนื่องถึงปีละ 13 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว
แนะนำวิธีกิน: เมล็ดฟักทองอบแห้งยอดนิยมสามารถไปรังสรรค์เมนูได้หลากหลาย เช่น ขนมปังเมล็ดฟักทอง กราโนล่า เค้กกล้วยหอมเมล็ดฟักทอง หรือรับประทานคู่กับโยเกิร์ตเป็นอาหารเช้าก็ได้เช่นกัน
2. เพิ่มคาร์โบไฮเดรตดีแถมอร่อย
สาเก
ผลไม้เมืองร้อนหาง่ายในไทยที่หลายคนอาจไม่ค่อยรู้จัก แต่เปี่ยมด้วยคุณประโยชน์ เพราะอุดมไปด้วยคาร์โบไฮเดรต ให้พลังงานสูง แต่ไขมันต่ำ แคลเซียมสูง ที่สำคัญคือมีสารอาหารเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน เช่น เบต้าแคโรทีน สารอาหารติดอันดับที่คนไทยต้องการมากในยุคโควิด-19 และยังเป็นสารอาหารที่ไม่มีในคาร์บประเภทอื่น นอกจากคาร์บแล้วก็ยังมีโปรตีนสูง ทำให้สาเกเป็นอาหารทางเลือกของชาว Plant-based ด้วยเช่นกัน
แนะนำวิธีกิน: สาเกเชื่อมถือเป็นขนมโบราณยอดนิยมของคนไทย แต่ถ้ากังวลเรื่องน้ำตาลก็สามารถนำไปฝานแล้วทอดกรอบเป็นสแน็กยามว่าง ให้เนื้อสัมผัสแปลกใหม่ไปอีกแบบ
มันแกว มันม่วง
หากนึกถึงคาร์บต้องนึกถึงอาหารจำพวกมันแน่นอน โดยเฉพาะมันม่วงที่สร้างกระแสมันม่วงฟีเวอร์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันก็ยังเป็นขวัญใจของคนที่กำลังลดน้ำหนัก เนื่องจากมีคาร์บที่ให้พลังงานสูง อยู่ท้อง มีใยอาหารสูงช่วยเรื่องการขับถ่าย แถมควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ด้วย และที่สำคัญคือมีรสชาติที่อร่อยเป็นเอกลักษณ์ ดังนั้นด้วยเทรนด์สุขภาพที่กำลังมาแรงขึ้นเรื่อยๆ จะช่วยให้มันม่วงและมันแกวเป็นหนึ่งในอาหารยอดนิยมในปีหน้าอย่างแน่นอน
แนะนำวิธีกิน: มันแกวมีรสชาติหวานและกรอบ จึงนำไปประกอบเมนูหวานคาวได้หลากหลาย เช่น ผัดหรือแกง ส่วนมันม่วงแค่นึ่งรับประทานก็อร่อยแล้ว หรือเพิ่มความสนุกด้วยการนำไปทำขนมก็ได้เช่นกัน
ข้าวฟ่าง
ธัญพืชเมล็ดจิ๋วอีกชนิดที่อุดมไปด้วยคาร์โบไฮเดรต ที่พ่วงมาด้วยวิตามินบีและแร่ธาตุ อาทิ ฟอสฟอรัส แม็กนีเซียมและธาตุเหล็ก มีสรรพคุณช่วยบำรุงกระดูก บำรุงหัวใจ นอกจากนี้ยังมีไฟเบอร์ที่นอกจากจะดีต่อระบบย่อยอาหารแล้วยังเป็นธัญพืชกลุ่มที่ช่วยควบคุมน้ำตาลในเลือดอีกด้วย
แนะนำวิธีกิน: ข้าวฟ่างมักนิยมไปรับทำเป็นสลัด วุ้นข้าวฟ่าง หรือเป็นขนมไทยโบราณอย่างข้าวฟ่างเปียกมะพร้าวอ่อนก็อร่อยลงตัว
3. ไฟเบอร์ดีๆ ใกล้ตัวในผักพื้นบ้าน
เห็ดเข็มทอง
เห็ดยอดนิยมที่เห็นได้ในหลากหลายเมนูนี้เป็นเห็ดที่มีไฟเบอร์สูงมาก แคลอรี่ต่ำ ทำให้มีการนำเห็ดเข็มทองไปเป็นส่วนผสมในเนื้อ Plant-based เพื่อเพิ่มไฟเบอร์ด้วยเช่นกัน เห็ดเข็มทองยังเป็นเห็ดชนิดแรกที่ได้รับการวิจัยว่ามีสารเฟรมมูลิน (Frammulin) ที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง พร้อมด้วยเบต้ากลูแคนช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน ถือเป็นอีกอาหารที่ตอบโจทย์เทรนด์อาหารเสริมภูมิคุ้มกันในยุคของโรคระบาด
แนะนำวิธีกิน: เห็ดเข็มทองเป็นส่วนประกอบสำคัญในหลากหลายเมนู แต่แค่ผัดกับเครื่องปรุงรสต่างๆ หรือจิ้มน้ำจิ้มรสแซ่บก็อร่อยถูกได้แบบง่ายๆ
กระเจี๊ยบเขียว
ผักเคียงยอดนิยมของคนไทยชนิดนี้เป็นซูเปอร์ฟู้ดก้นครัวไทยที่เราอาจเคยมองข้ามไป กระเจี๊ยบเขียวอุดมด้วยไฟเบอร์และเมือกที่ดีต่อระบบย่อยอาหาร มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ช่วยป้องกันโรคหลากหลาย และยังมีงานวิจัยรายงานว่ามีคุณสมบัติช่วยป้องกันมะเร็งได้อีกด้วย
แนะนำวิธีกิน: กระเจี๊ยบเขียวมักนิยมนำมาต้มรับประทานเป็นผักเคียง แต่หากนำไปผัดไข่หรือผัดกะปิก็เป็นไอเดียที่จะทำให้ได้รสชาติที่แปลกใหม่
กระเทียม
ซูเปอร์ฟู้ดที่หาได้ง่ายที่สุดของไทย มีไฟเบอร์สูง ทำให้มีคุณสมบัติช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ใหญ่ และยังโดดเด่นมากในเรื่องกระตุ้นและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง โดยในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ในปีที่ผ่านมา กระเทียมเป็นสมุนไพรที่ถูกเสิร์ชหาข้อมูลมากที่สุด เพราะคนไทยเชื่อว่ากระเทียมเป็นสมุนไพรทางเลือกในการเสริมภูมิคุ้มกันที่หาง่ายและใกล้ตัว
แนะนำวิธีกิน: การรับประทานกระเทียมแบบสดๆ จะให้ประโยชน์สูงสุด หรืออาจนำไปผัดกับส่วนผสมอื่นๆ เป็นเวลาสั้นๆ ก็จะช่วยเพิ่มรสชาติและคงคุณประโยชน์ไว้ได้มากกว่าเมนูอื่นๆ
ยอดหมุย
ผักพื้นบ้านไทยอีกชนิดที่ชื่อแปลกหู มักนิยมรับประทานเป็นผักเคียงในภาคใต้ กลิ่นหอม รสชาติเผ็ดหวาน ผักหมุยเปี่ยมไปด้วยไฟเบอร์และวิตามินที่มีประโยชน์ นอกจากนี้ยังถือเป็นสมุนไพรพื้นบ้านไทยที่มีสรรพคุณรักษาโรค เช่น แก้จุกเสียดได้อีกด้วย
แนะนำวิธีกิน: ยอดหมุยมีรสชาติเผ็ดร้อนนิยมมาประกอบอาหาร เช่น ยำ แกงเผ็ด หรือคั่ว ให้รสจัดจ้านถึงใจ
ผักแพว
ผักพื้นบ้านท้องถิ่นไทยภาคเหนือและภาคอีสานที่ติด 1 ใน 10 อันดับของผักพื้นบ้านไทยที่มีไฟเบอร์สูงที่สุด ผักแพวมีอีกชื่อว่าผักไผ่หรือพริกม้า นอกจากไฟเบอร์แล้วยังพ่วงมาด้วยแร่ธาตุและวิตามินซีสูง มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงช่วยชะลอวัย และเป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่ช่วยเรื่องการเผาผลาญไขมันในเลือดอีกด้วย
แนะนำวิธีกิน: ผักแพว มีรสชาติเผ็ดร้อน นิยมรับประทานคู่กับแกงรสจัด หรือนำไปเป็นส่วนผสมในแกงหรือคั่วต่างๆ ช่วยเพิ่มรสชาติได้ดีเยี่ยม
4. วิตามินซี บี ดี ของมันต้องมี
เบบี้บร็อกโคลี่
ผักหาง่ายที่เราต่างคุ้นเคยชนิดนี้มีประโยชน์มากกว่าที่คิด เป็นแหล่งของวิตามินเอ ซี และเค รวมถึงมีเบต้าแคโรทีน สารอาหารติดอันดับที่กำลังเป็นที่ต้องการในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันจากโควิด-19 ด้วยคุณประโยชน์ที่ตอบโจทย์นี้ทำให้เบบี้บร็อกโคลี่เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะเป็นอาหารสุขภาพยอดนิยมในปีหน้า
แนะนำวิธีกิน: แค่นำเบบี้บร็อกโคลี่มาผัดน้ำมันหอย โรยกระเทียมเจียวเท่านั้น เมนูง่ายๆ แต่รสชาติอร่อยเกินคาด
ลูกหว้า
ผลไม้ที่เราอาจไม่ค่อยคุ้นเคยนักเนื่องจากมีขายตามฤดูกาล มีลักษณะคล้ายองุ่น นอกจากจะเป็นผลไม้ที่วิตามินซีและบีสูง ยังมีแคลเซียม แมกนีเซียม และฟอสฟอรัสช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง และยังมีโพแทสเซียมสูง ซึ่งเป็นตัวช่วยควบคุมความดันโลหิตอีกด้วย
แนะนำวิธีกิน: ลูกหว้าเป็นผลไม้ที่รสชาติเปรี้ยวหวานฝาดเป็นเอกลักษณ์ นอกจากจะรับประทานสดๆ แล้ว นำมาคั้นน้ำดื่มให้สดชื่นในวันที่อากาศร้อนๆ ก็เป็นไอเดียที่ดี
หม่อน
หม่อน หรือที่รู้จักกันในนามของมัลเบอร์รี่ เป็นผลไม้ที่มีวิตามินเอและซีสูง วิตามินเอช่วยบำรุงระบบประสาทและสายตา และวิตามินซีช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันในร่างกาย นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่รายงานว่าหม่อนมีสรรพคุณช่วยต้านไวรัส ถือเป็นอีกผลไม้ทางเลือกใหม่สำหรับยุคโควิด-19
แนะนำวิธีกิน: การรับประทานลูกหม่อนให้ได้ประโยชน์ที่สุดคือการรับประทานแบบสดๆ แต่ก็สามารถเพิ่มความหลากหลายโดยรับประทานคู่กับโยเกิร์ต หรือคั้นน้ำดื่มก็ได้เช่นกัน
กระชาย
สมุนไพรยอดฮิตในยุคโควิด-19 ที่เป็นที่ต้องการอย่างหนักจน ราคาพุ่งกว่า 5 เท่า นอกจากจะมีสรรพคุณช่วยต้านไวรัสโคโรนาและแก้หวัดแล้ว กระชายยังอุดมไปด้วยวิตามินเอและบี สารต้านอนุมูลอิสระ รวมถึงแร่ธาตุและแคลเซียม นอกจากจะเป็นวัตถุดิบอาหารสุขภาพแล้ว กระชายยังเป็นสมุนไพรไทยที่ได้รับการขนานนามว่า ‘โสมไทย’
แนะนำวิธีกิน: กระชายขาวสามารถนำมาต้มน้ำและใส่ส่วนผสมอื่นๆ เช่น น้ำผึ้ง มะนาว หรือใบเตยได้ เป็นเครื่องดื่มที่ช่วยให้ชุ่มคอแถมได้ประโยชน์อีกด้วย
5. ไขมันดี แคลอรี่น้อย
ปลาน้ำดอกไม้
อีกชื่อหนึ่งเรียกว่าปลาสาก เป็นปลาไทยที่หาซื้อได้ไม่ยาก แต่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 สูงถึง 765 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม ติดอันดับปลาไทยที่มีโอเมก้า 3 สูง หาซื้อง่าย ราคาถูก และคุณประโยชน์สูงไม่แพ้ปลาแซลมอนเลยทีเดียว การเลือกกินปลาน้ำดอกไม้ยังถือเป็นการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านการหันกลับมาอุดหนุนอาหารท้องถิ่นไทยอีกด้วย
แนะนำวิธีกิน: ปลาน้ำดอกไม้ เนื้อแน่นและอ่อนนุ่ม ไม่มีกลิ่นคาว สามารถนำไปประกอบอาหารได้หลากหลาย ไม่ว่าจะต้ม แกง ทอด แนะนำว่าเป็นห่อหมกหรือต้มโคล้งยิ่งเข้ากันดี
ถั่วดาวอินคา
แหล่งไขมันโอเมก้า 3 จากพืชซึ่งเป็นอีกทางเลือกของชาวกินเนื้อจากพืช (Plant-based) ที่อยากหาแหล่งไขมันดีนอกเหนือจากปลา ถั่วดาวอินคายังมีโปรตีน แคลเซียม และสารต้านอนุมูลอิสระสูงอีกด้วย น้ำมันสกัดจากถั่วดาวอินคาก็เป็นน้ำมันทางเลือก สามารถนำไปใช้ประกอบอาหารแทนน้ำมันหมูได้ เป็นอาหารที่จะเติบโตไปพร้อมกับเทรนด์เนื้อจากพืช (Plant-based) แน่นอน
แนะนำวิธีกิน: ถั่วดาวอินคามีการนำไปแปรรูปเป็นของขบเคี้ยวยามว่างที่แคลอรี่ต่ำ รวมถึงตัวเมล็ดเองก็มีการนำไปสกัดเป็นน้ำมันดาวอินคา เป็นอีกทางเลือกในการประกอบอาหาร
อาหารเพื่อสุขภาพที่ดี คำว่า ‘ดี’ นั้นดีอย่างไร
อาหารเพื่อสุขภาพที่ดีต่อ ‘ภูมิคุ้มกัน’
ตำรายาสมุนไพรไทยและผลการศึกษาวิจัยในปัจจุบันนั้นชี้ให้เห็นถึงสรรพคุณมากมายในพืชผักสวนครัวไทยหลากชนิด ซึ่งล้วนทำหน้าที่เป็นได้ทั้งอาหารหลักและยารักษาโรค หรือกินเป็นอาหารเสริมสุขภาพเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันก็ได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น พลูคาว ซึ่งมีสรรพคุณช่วยบรรเทาภาวะภูมิแพ้และเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน หรือการรับประทานกระชายขาวในปริมาณที่เหมาะสมก็สามารถช่วยต่อต้านเชื้อไวรัส เสริมภูมิคุ้มกันได้ นอกจากนี้ยังมีสมุนไพรพื้นบ้านไทยอื่นๆ เช่น กระเทียม ตะไคร้ ข่า หอมแดง พริก ขิง และขมิ้นชัน ที่อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
อาหารเพื่อสุขภาพที่ดีต่อ ‘ระบบย่อยอาหาร’
งานวิจัยพบว่ามนุษย์มีระบบย่อยอาหารที่เหมาะกับการรับประทานพืชมากกว่าการรับประทานเนื้อสัตว์ ทำให้การเน้นรับประทานพืชมากขึ้นและลดเนื้อสัตว์ให้น้อยลงนั้นเป็นประโยชน์ต่อระบบย่อยอาหาร ด้วยเหตุนี้เทรนด์อาหารเนื้อจากพืช (Plant-based) จึงถือได้ว่าเป็นทางเลือกที่ดีต่อระบบย่อยอาหารเป็นอย่างมาก
สำหรับการรับประทานแบบทั่วไปลองเลือกรับประทานถั่ว ผักใบเขียว อะโวคาโด และอัลมอนด์ ซึ่งล้วนเป็นอาหารที่มีไฟเบอร์สูงและมีจุลินทรีย์ที่ดีต่อระบบย่อยอาหาร โดยเฉพาะอัลมอนด์และอะโวคาโดนั้นจะมีพรีไบโอติกส์สูง (Prebiotics) ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่จะไปกระตุ้นการทำงานของโพรไบโอติกส์ (Probiotics) จุลินทรีย์อีกชนิดในลำไส้ของเราที่มักได้รับจากการรับประทานอาหารอื่นๆ อย่างเช่นโยเกิร์ตหรือกล้วย โดยโพรไบโอติกส์จะมีหน้าที่หลักในการแก้ปัญหาในระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องผูก ท้องร่วง
อาหารเพื่อสุขภาพที่ดีต่อ ‘น้ำตาลในเลือด'
มันเทศและเผือกเป็นหนึ่งในอาหารที่ให้พลังงานสูง และถึงแม้จะมีรสชาติหวานอร่อย แต่มีน้ำตาลต่ำ ในทางตรงกันข้ามยังมีประโยชน์ในการช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด โดยมีงานวิจัยสนับสนุนว่ามันเทศสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ โดยผลการทดลองจากผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 พบว่ามันเทศช่วยให้ร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินได้ดี คาร์โบไฮเดรตในเผือกยังเป็นแป้งที่ทนต่อการย่อย (Resistant starch) เป็นคาร์บที่จะไม่ย่อยเป็นน้ำตาล ทำให้ไม่เพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด ผู้ป่วยเบาหวานรับประทานได้ นอกจากนี้อาหารในหมวดหมู่ธัญพืชเช่น เมล็ดเจีย เมล็ดแฟ็กซ์ ข้าวฟ่าง และงาดำ ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งเนื่องจากมีไฟเบอร์ที่ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดเช่นกัน
รูปแบบอาหารเพื่อสุขภาพและวิถีการกินของสายรักสุขภาพ
รู้หรือไม่? อาหารคลีนและอาหารออร์แกนิก ต่างกันอย่างไร
เป้าหมายคือกินเพื่อสุขภาพดีเหมือนกัน แต่ที่มาแตกต่างกันอยู่ไม่น้อย
อาหารออร์แกนิก (Organic Food)
อาหารที่มาจากผลผลิตเกษตรอินทรีย์ ถ้าเป็นพืชผัก เมล็ดพันธุ์และสายพันธุ์ต้องไม่ถูกตัดต่อทางพันธุกรรม ต้องเพาะปลูกและดูแลแบบไร้สารพิษทุกขั้นตอนจนถึงกระบวนการเก็บเกี่ยวผลผลิตและจัดส่ง ถ้าเป็นเนื้อสัตว์ อาหารสุขภาพแบบออร์แกนิกต้องมาจากสัตว์ที่ถูกเลี้ยงแบบปล่อยอิสระ ให้อาหารจากธรรมชาติล้วนๆ ไม่มีการขุนหรือให้อาหารสังเคราะห์
อาหารคลีน (Clean Food)
อาหารที่สด สะอาด ปลอดภัย ไม่ผ่านการแปรรูป ถนอมอาหาร หรือกระบวนการหมักดอง อาหารสุขภาพแบบคลีนต้องปรุงรสน้อยหรือไม่ปรุงเลย ไม่จำเป็นต้องทานแต่ผัก ให้เน้นสารอาหารครบ 5 หมู่
รู้หรือไม่? อาหารเพื่อสุขภาพประเภท เจ / เนื้อจากพืช(Plant-based) / วีแกน(Vegan) / มังสวิรัติ ต่างกันอย่างไร
เน้นกินผักเป็นสำคัญ แต่มีรายละเอียดที่ต่างกันอยู่พอสมควร
หมายเหตุ
ตารางนี้เป็นเพียงทางเลือกที่แพร่หลายที่สุดเท่านั้น ปัจจุบันรูปแบบการรับประทานอาหารสุขภาพแบบต่างๆ มีความยืดหยุ่นขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกให้รูปแบบชีวิตที่ต่างกัน มังสวิรัติและเจมีรูปแบบที่รับประทานไข่และนมได้ รวมถึงผู้ทานเนื้อจากพืช (Plant-based) เองก็เลือกรับประทานผักเพียง 95 เปอร์เซ็นต์ได้เช่นกัน
เมนูอาหารเพื่อสุขภาพที่แนะนำ
แจกฟรี! อีบุ๊ค (E-Book) รวมเทรนด์อาหารกำลังมาแรงปี 2022
หนังสืออิเล็กทรอนิกส์รวบรวมเทรนด์อาหารที่สําคัญของปี 2022 มาพร้อมสูตรลับการปรุงอาหารเพื่อรังสรรค์เมนูที่โดดเด่นด้วยความหลากหลายของวัตถุดิบ เหมาะอย่างยิ่งกับผู้ประกอบการธุรกิจอาหารและผู้ที่สนใจ
กรอกข้อมูลเพื่อดาวน์โหลดฟรี
บทความที่เกี่ยวข้อง
สิ่งที่คุณจะได้รับ:
- ฟรี หลักสูตรอบรมด้านธุรกิจอาหารและการทำอาหาร
- สูตรอาหารและเคล็ดลับที่ดีที่สุดจากเชฟทั่วโลก
- เทรนด์การทำอาหารล่าสุด