เทรนด์อาหารกำลังมาแรงปี 2022: อาหารหลากหลายทางชีวภาพ
Biodiversity
เทรนด์เก่าแก่ที่หลายคนมองข้ามอย่าง Biodiverse Dining หรือ Food Biodiversity หรือ อาหารหลากหลายทางชีวภาพ คือการเสาะหาอาหารการกินใหม่ๆ ที่คนเราไม่เคยลิ้มลองมาก่อน เพื่อให้การบริโภคเกิดความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะจริงๆ แล้ว บนโลกใบนี้ยังมีพืชผักผลไม้อีกหลายต่อหลายชนิดที่เราไม่รู้จัก แต่กลับอุดมไปด้วยสารอาหารโภชนาการสูงระดับ Super food!
แต่เดี๋ยวก่อน... อย่าเพิ่งสับสนระหว่าง ‘การกินให้หลากหลายของ Biodiverse dining’ กับ ‘การกินอาหารให้ครบ 5 หมู่’ เพราะนอกจากเราควรจะกินอาหารให้ครบทุกหมู่แล้ว Biodiverse dining ยังเป็นการเลือกกินอาหารในหมวดหมู่เดียวกันที่มีความหลากหลายทางสายพันธุ์อีกด้วย เนื่องจากพืชผักที่สายพันธุ์แตกต่างกันแม้เพียงน้อยนิด ก็มีสารอาหารรอง (Micronutrients) ที่แตกต่างกัน ดังนั้นการกินอาหารหลากหลายทางชีวภาพจึงทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วนอย่างแท้จริง
ในแต่ละวัน เรากินอาหารที่มีรูปร่างหน้าตาและวิธีการปรุงแต่งแตกต่างกันไป จนเราอาจเผลอคิดไปว่าเรากินอาหารหลากหลายทางชีวภาพอยู่แล้ว แต่นั่นเป็นเพียงแค่ภาพลวงตา เพราะในความเป็นจริง 75% ของอาหารทั้งหมดที่ประชากรโลกบริโภคกันในปัจจุบัน มาจากแหล่งอาหารคือ พืช 12 ชนิด และเนื้อสัตว์แค่ 5 สายพันธุ์ และทั้งๆ ที่บนโลกมีพืชที่มนุษย์สามารถกินได้ถึง 30,000 ชนิด แต่เรากลับกินพืชเพียงแค่ 150 ชนิดเท่านั้นเอง
ในปี 2022 ผู้บริโภคจำนวนมากยังคงมองหาอาหารเพื่อสุขภาพ ขณะเดียวกันความตระหนักถึงปัญหาสภาวะโลกร้อนก็ยิ่งเข้มข้น ทำให้อาหารหลากหลายทางชีวภาพ หรือ Biodiverse dining จะกลายมาเป็นเทรนด์สำคัญ เพราะนอกจากผู้บริโภคจะได้สารอาหารที่จำเป็นอย่างครบถ้วนแล้ว นักวิจัยด้านโภชนาการยังพบว่า ผักผลไม้ที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักหลายชนิดมักอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์มากกว่าพืชที่นิยมปลูกเพื่อบริโภค รวมทั้งพวกมันยังปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี ทำให้เพาะปลูกง่าย ไม่จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรดินและน้ำมาก และไม่ต้องใช้สารเคมี เอื้อให้เกิดเกษตรกรรมอินทรีย์แบบยั่งยืนที่เป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อม
อาหารหลากหลายทางชีวภาพดีต่อคนอย่างไร
- เพิ่มสารอาหาร พืชผักแต่ละสายพันธุ์จะมีสารอาหารรอง (Micronutrients) แตกต่างกัน เช่น วิตามิน แร่ธาตุชนิดต่างๆ เมื่อเรากินอะไรซ้ำๆ เราก็จะได้รับแต่สารอาหารรองเดิมๆ แต่ถ้ากินให้หลากหลายก็จะได้สารอาหารที่ร่างกายต้องการครบถ้วน
- วัฒนธรรมการ เลือกกินพืชผักผลไม้ในกระแสรองหรือสายพันธ์ใหม่ๆ ที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก จะทำให้เราได้รู้จักวัฒนธรรมอาหารใหม่ๆ และช่วยกระจายรายได้แก่เกษตรกรรายย่อยอีกมากมาย
- เพิ่มรสชาติ การได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ลองลิ้มชิมรสชาติใหม่ๆ จากอาหารจานใหม่ๆ เป็นความสุขที่เติมสีสันและความตื่นเต้นแก่ชีวิต
อาหารหลากหลายทางชีวภาพดีต่อโลกอย่างไร
- เพื่อความยั่งยืน เทรนด์การกินอาหารหลากหลายทางชีวภาพจะกระตุ้นให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชแบบหมุนเวียนหรือปลูกพืชที่หลากหลายสายพันธุ์มากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งเกษตรกรรมประเภทนี้จะส่งผลดีต่อคุณภาพดินมากกว่าการปลูกพืชชนิดเดิมซ้ำๆ กัน เมื่อดินดี ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ย สารเคมี และยาฆ่าแมลง ช่วยให้เกิดเกษตรกรรมแบบอินทรีย์ที่ยั่งยืน
- เพื่อการฟื้นคืน ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่เพาะปลูกจะก่อให้เกิดระบบนิเวศที่สมบูรณ์มากขึ้น เหมือนป่าตามธรรมชาติที่มีพืชหลากหลายสายพันธุ์อาศัยอยู่ร่วมกันและดูแลพึ่งพากัน เมื่อระบบนิเวศดี พืชและสัตว์จะมีสุขภาพดี สามารถปรับตัวเพื่อสู้กับโรค ศัตรูพืช สภาพอากาศแปรปรวน และภัยธรรมชาติได้มากขึ้น
- เพื่อความมั่นคงทางอาหาร การปลูกพืชหลากหลายสายพันธุ์จะช่วยลดความเสียหายในกรณีที่เกิดโรคระบาด เพราะสายพันธุ์ต่างกัน พันธุกรรมและความทนทานต่อโรคก็ต่างกันด้วย หากพืชชนิดนี้ล้มตายเป็นจำนวนมาก เราก็ยังมีพืชอีกชนิดเหลือรอด ทำให้หายห่วงได้ว่าไม่ขาดแคลนอาหารแน่นอน
อยากกินอาหารหลากหลายทางชีวภาพ เริ่มจากอะไรดี
ซุปเปอร์โปรตีน โปรตีนสูงทดแทนเนื้อสัตว์
จำนวนประชากรโลกที่จะทะยานขึ้นในอนาคตอันใกล้ ทำให้หลายฝ่ายมองว่าเนื้อสัตว์อย่างเดียวอาจไม่เพียงพอสำหรับเป็นอาหาร ไหนจะการทำปศุสัตว์ที่ก่อให้เกิดมลพิษทำลายสิ่งแวดล้อมอีก จึงถึงเวลาแล้วที่เราต้องมองหาแหล่งโปรตีนทางเลือกอื่นๆ
แมลง (Edible insects)
แมลงจะไม่ใช่อาหารหน้าตาแปลกประหลาดที่คนตะวันตกหรือคนเมืองกรุงร้องยี้อีกต่อไป เพราะไอ้เจ้าตัวหน้าตาประหลาดๆ ทั้งหลายนี้แหละคือแหล่งอาหารสำหรับอนาคตที่มีโปรตีนไม่แพ้วัว หมู ไก่ ปลา แถมยังอุดมไปด้วยไฟเบอร์ แคลเซียม เหล็ก สังกะสี ที่สำคัญ การเลี้ยงแมลงใช้พื้นที่น้อย ต้นทุนต่ำ ไม่ก่อให้เกิดก๊าซมีเทนและคาร์บอนไดออกไซด์เหมือนฟาร์มวัวและปศุสัตว์อื่นๆ ความหลากหลายของสายพันธุ์แมลงยังมีให้เลือกบริโภคมากมาย โดยบนโลกมีแมลงกว่า 1,900 ชนิดที่กินได้ ส่วนเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอยู่ 150-200 ชนิด ที่เป็นที่นิยมเช่น ด้วง หนอนผีเสื้อ ผึ้ง ตัวต่อ มด จิ้งหรีด ตั๊กแตน จักจั่น เพลี้ย แมลงจึงจัดอยู่ในอันดับต้นๆ ของอาหารหลากหลายทางชีวภาพ
ถั่วเลนทิล (Lentils)
อาหารโภชนาการสูง หรือ ซุปเปอร์ฟู้ด (Super food) ไม่ได้มีแค่ควินัวอย่างเดียว แต่ยังมีธัญพืชอีกหลากชนิดหลายสายพันธุ์ที่ควรจัดอยู่ในอาหารหลากหลายทางชีวภาพ อย่าง เจ้าถั่วเมล็ดกลมๆ แบนๆ สีน้ำตาล แดง เหลือง เขียว เหล่านี้ที่ถือเป็น ‘ซุปเปอร์ถั่ว ซุปเปอร์โปรตีน’ ถั่วเลนทิลมีวิตามิน B1 และธาตุเหล็กสูงกว่าถั่วชนิดอื่นสองเท่า จึงช่วยบำรุงหัวใจและระบบประสาท แถมยังปลูกง่ายเพราะทนแล้ง ถั่วเลนทิลเป็นอาหารพื้นบ้านของชาวอินเดีย ถั่วเลนทิลสีแดงและเหลืองเอามาใส่แกงกะหรี่ยิ่งอร่อย
บัควีท (Buckwheat)
ถึงจะมี wheat อยู่ในชื่อ แต่ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับข้าวสาลีเลย เพราะจริงๆ แล้ว บัควีทเป็นธัญพืชที่มีคุณค่าทางอาหารสูงมาก โดยเฉพาะโปรตีน แถมยังไม่มีกลูเตนอีกต่างหาก บัควีทเหมาะที่สุดที่จะนำมาใช้แทนข้าวเพื่อการกินอาหารหลากหลายชีวภาพ ไม่ว่าจะนึ่ง ต้ม หรือผัด กินได้ไม่ต้องกลัวอ้วน เพาะปลูกก็ง่าย ใช้เวลา 8-12 สัปดาห์ก็เก็บเกี่ยวได้แล้ว
พืชสายพันธุ์ธรรมดาที่ไม่ธรรมดา
มีพืชมากคุณค่าจำนวนไม่น้อยที่เพาะปลูกอยู่เป็นจำนวนมากในบ้านเรา แต่เรากลับไม่เคยสนใจมันมาก่อน
ถั่วหรั่ง (Bambara groundnut)
ถั่วหรั่ง (หรือในอีกหลากหลายชื่อ อย่าง ถั่วเมล็ดเดียว ถั่วไทร ถั่วปันหยี ถั่วโป กาแปโจ) เป็นถั่วที่ปลูกมากในภาคใต้ของไทย ทนแล้ง และระยะเวลาเก็บเกี่ยวสั้น ถั่วหรั่งจัดเป็นพืชประเภทถั่วฝักที่สำคัญที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลกเลยทีเดียว ถั่วหรั่งเหมาะจะเป็นอาหารหลากหลายทางชีวภาพเพราะมีโปรตีนสูงเหมาะสำหรับเด็กวัยกำลังโตและหญิงมีครรภ์ มีแคลเซียมและฟอสฟอรัสสูง ช่วยให้กระดูกมีสุขภาพแข็งแรง เหมาะสำหรับผู้สูงอายุ นอกจากนั้น ถั่วหรั่งยังมีกรดอะมิโนสูงพอๆ กับถั่วเหลือง ทำให้ได้รับสถานะอาหารโภชนาการสูง (Super food) ที่ช่วยปรับระดับน้ำตาลในเลือด มีประโยชน์อย่างมากต่อผู้ป่วยเบาหวาน ถั่วหรั่งสามารถนำมาทำได้ทั้งอาหารคาว หวาน และเป็นของว่างกินเล่น
มันเทศ (Sweet potato)
เกษตรกรไทยปลูกมันเทศอย่างแพร่หลายมานานแล้ว แต่ความนิยมในมันเทศดูเหมือนเพิ่งจะเริ่มบูมมาเมื่อไม่นานมานี้เอง มันเทศอุดมไปด้วยเบต้าแคโรทีนที่เป็นสารตั้งต้นของวิตามิน A ช่วยบำรุงสายตาและมีส่วนช่วยลดอัตราการกลายพันธุ์ของเซลล์มะเร็ง มันเทศยังเต็มไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ โดยเฉพาะมันม่วงที่มีแอนโทไซยานินสูงกว่ามันสีอื่นๆ โดยแอนโทไซยานินนี้จะช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจ ล้างพิษ ชะลอความชรา และช่วยยับยั้งเซลล์มะเร็งได้
เรื่องน่ารู้ : มันเทศสีต่างกันก็มีสารอาหารต่างกัน
- มันม่วง: อุดมไปด้วย ‘แอนโธไซนาไน’ ที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ มีมากกว่าบลูเบอรี่ถึง 150%
- มันส้ม มันเหลือง: เต็มไปด้วยเบต้าแคโรทีน และแคโรทีนอยด์ บำรุงสายตาและผิวพรรณ มันส้มแค่ 200 กรัมมีเบต้าแคโรทีนมากกว่าปริมาณที่เราควรได้รับต่อวันถึง 7 เท่า
- ไม่ว่ามันเทศสายพันธุ์ไหนก็เต็มไปด้วยวิตามินเอ ซี บี6 โพแทนเซียม ธาตุเหล็ก ฯลฯ เหมือนกันทั้งนั้น ทำให้ช่วยบำรุงสมอง ผ่อนคลายความเครียด และลดอาการหงุดหงิด
- เราสามารถนำมันเทศไปทำได้ทั้งเมนูคาวและหวาน วิธีปรุงก็หลากหลาย ไม่ว่าจะอบ ต้ม นึ่ง ทอด คั่ว ยิ่งถ้าเติมส่วนผสมอย่างน้ำมันมะพร้าว น้ำมันมะกอก หรืออะโวคาโดเข้าไปในเมนูมันเทศนั้นด้วยแล้ว ก็จยิ่งช่วยให้ร่างกายดูดซึมเบต้าแคโรทีนได้ดีขึ้นไปอีก
ผักพื้นบ้านไทยๆ ระดับอาหารแห่งอนาคต
รู้ไหมว่ามีผักพื้นบ้านไทยๆ ของเราหลายชนิด ที่ต่างชาติยกให้เป็นอาหารแห่งอนาคต (Future Food)
ผำ (Wolffia)
มีชื่อเรียกตามภาษาท้องถิ่นว่า ผำ ไข่ผำ ไข่แหน ไข่น้ำ หรือไข่ผำน้ำ จัดว่าเป็นพืชขนาดเล็กที่สุดในโลก มีฉายาว่า ‘คาเวียร์เขียว’ ลักษณะเป็นเม็ดสีเขียวกลมๆ มีเฉพาะบางพื้นที่ของภาคอีสานและภาคเหนือเท่านั้น ล่าสุดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทยกำลังผลักดันให้เป็นสุดยอดซูเปอร์ฟู้ดของอาหารแห่งอนาคต (Future Food) และก็ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก เนื่องจากมีคุณค่าทางโภชนาการสูง คือมีโปรตีนในระดับเดียวกับถั่วชนิดต่างๆ มีเส้นใยสูง มีเบต้า-แคโรทีน และปริมาณกรดอะมิโนเทียบเท่าไข่ไก่ นอกจากนี้ไข่น้ำยังมีคลอโรฟิลล์จากการสังเคราะห์แสง ซึ่งมีสารต้านอนุมูลอิสระสูงมาก ใช้รักษาโรคโลหิตจางหรืออาการท้องผูกได้ ผำจึงเป็นหนึ่งในอาหารหลากหลายทางชีวภาพที่ไม่ควรมองข้าม
รู้หรือไม่? ผำมีปริมาณกรดอะมิโนเทียบเท่ากับไข่ไก่ สารอาหารในผำจุดประกายไอเดียให้บริษัทสตาร์ทอัพในประเทศอิสราเอลที่ชื่อ GreenOnyx ทำเครื่องเพาะผำ เป็นหนึ่งในเครื่องครัวในบ้าน โดยจำลองอุณหภูมิและสิ่งแวดล้อมให้เหมาะกับแหล่งน้ำในประเทศไทย ซึ่งเหมาะกับการเติบโตของผำ เครื่องนี้สามารถเพาะผำและทำเป็นน้ำสกัดเย็นได้ด้วย ด้วยหวังว่าผำจะกลายเป็นที่นิยมในเทรนด์อาหารสุขภาพเหมือนควินัวในอาหารตะวันตก
มะรุม (Moringa)
มะรุมโตเร็ว ทนแล้ง สามารถปลูกในบ้านได้ไม่ยาก ทั้ง ใบ ดอก และฝักของมะรุมมีคุณค่าทางอาหารสูง โดยเฉพาะฝักที่นิยมเอามา ทำแกงส้ม ส่วนฝั่งอินเดียใช้เป็นส่วนประกอบในสตูว์ผัก (Sambar) ร่วมกับถั่วเลนทิล มะรุมมีวิตามินเอ ซี และอี โดยมีวิตามินซีสูงกว่าส้มถึง 50%
รากบัว (Lotus root)
มีวิตามินซีสูง เนื้อสัมผัสกรุบกรอบ รสหวานอมเปรี้ยว รากบัวสามารถนำไปทำอาหารได้ทั้งคาวหวาน
สมุนไพรข้างรั้ว
บางครั้ง ขุมทรัพย์ทางสารอาหารก็งอกขึ้นมาอยู่ข้างรั้วบ้านเสียอย่างนั้น
มะระขี้นก (Bitter gourd)
สมุนไพรข้างรั้วที่อยู่ในตระกูลใกล้เคียงกับซูกินี่ น้ำเต้า ฟักทอง และแตงกวา เอามาทำอาหารเอเชี่ยนและอาหารไทยได้หลากหลายมาก มะระขี้นกมีวิตามินซีและเอสูงมาก รวมทั้งยังอาจมีสารต้านมะเร็งและช่วยลดคลอเรสเตอรอล
ฟักข้าว (Gac fruit)
ผักผลไม้อีกหนึ่งชนิดที่เราอาจพบเลื้อยขึ้นอยู่บนต้นไม้ในบ้านโดยไม่รู้ตัว ฟักข้าวเป็นสุดยอดผลไม้ที่มีไลโคปีนมากกว่ามะเขือเทศถึง 12 เท่า มีเบต้าแคโรทีนมากกว่าแครอท 10 เท่า และยังเต็มไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยลดความเสี่ยงมะเร็ง โรคสมองเสื่อม โรคหัวใจ และโรคซึมเศร้า เราสามารถเอาผลฟักข้าวมาต้มนึ่งจิ้มน้ำพริก เอาผลฟักข้าวอ่อนมาทำแกงส้ม หรือแกงต่างๆ ส่วนในเวียดนามมีเมนูชื่อ Xoi Gac ข้าวสีแดงที่มีฟักข้าวเป็นส่วนผสม
ดูเมนูอาหารหลากหลายทางชีวภาพที่แนะนำ
แจกฟรี! อีบุ๊ค (E-Book) รวมเทรนด์อาหารกำลังมาแรงปี 2022
หนังสืออิเล็กทรอนิกส์รวบรวมเทรนด์อาหารที่สําคัญของปี 2022 มาพร้อมสูตรลับการปรุงอาหารเพื่อรังสรรค์เมนูที่โดดเด่นด้วยความหลากหลายของวัตถุดิบ เหมาะอย่างยิ่งกับผู้ประกอบการธุรกิจอาหารและผู้ที่สนใจ
กรอกข้อมูลเพื่อดาวน์โหลดฟรี
บทความที่เกี่ยวข้อง
สิ่งที่คุณจะได้รับ:
- ฟรี หลักสูตรอบรมด้านธุรกิจอาหารและการทำอาหาร
- สูตรอาหารและเคล็ดลับที่ดีที่สุดจากเชฟทั่วโลก
- เทรนด์การทำอาหารล่าสุด