เทรนด์อาหารที่ 5 อาหารพร้อมทานมาพร้อมประสบการณ์ขั้นกว่า
Haute Cuisine On-the-go
อาหารพร้อมทาน (Ready-to-eat) ยังคงครองใจผู้บริโภคชาวเมืองที่ต้องวิ่งแข่งกับเวลาอยู่ตลอด คาดว่าตลาดอาหารปรุงสุกพร้อมทานจะเติบโตอย่างต่อเนื่องไปจนถึงปี 2024 เพราะหลังสถานการณ์ระบาดของไวรัส ร้านอาหารหลายแห่งต้องปรับตัวมาขยายบริการอาหารกลับบ้าน ทั้ง Take-out และ Ready-to-eat เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคที่อยากลดการสัมผัสที่ไม่จำเป็นในชีวิตประจำวันมากขึ้น
จากเดิมที่อาหารพร้อมทานมักเน้นความสะดวก คุ้มราคา และเมนูที่คุ้นเคย ผู้บริโภคในปัจจุบันกลับมองหา "ประสบการณ์ขั้นกว่า" จากอาหารพร้อมทาน ไม่ว่าจะเป็นรสชาติ เนื้อสัมผัส วัตถุดิบใหม่ๆ ตลอดจนคุณค่าทางโภชนาการ รวมถึงความหลากหลายและแปลกใหม่ในการนำเสนอ พวกเขาอยากรู้สึกเหมือนได้ออกไปทานอาหารในร้านอาหารดีๆ แต่ยังคงความสะดวกสบายสไตล์อาหาร Grab and Go
ผู้บริโภคเชื่อว่าอาหารพร้อมทานที่ปรุงโดยตรงจากร้านอาหารคือหนทางที่สะดวกกว่าในการได้รับประสบการณ์และรสชาติเหมือนร้านอาหารจากที่บ้าน ตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคที่ไม่นิยมออกมารับประทานอาหารที่ร้าน ซึ่งมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นในทุกๆปี เทรนด์อาหารพร้อมทานในนิยามใหม่ที่ต้องมาพร้อมประสบการณ์ขั้นกว่า จึงกลายเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการร้านอาหารควรนำมาปรับใช้ให้ธุรกิจยังสร้างการเติบโตได้ในปี 2021 นี้
หลากวิธี หลากประสบการณ์ เพื่อสร้างสรรค์เมนูพร้อมทาน
รูปแบบที่หลากหลายของอาหารพร้อมทานนั้นเปรียบเสมือนภาชนะสำคัญซึ่งมีจุดแข็งที่แตกต่าง ผู้ประกอบการควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับแนวทางอาหารของตน และนำจุดแข็งไปใช้สร้างประสบการณ์กินที่ดีกว่าให้กับผู้บริโภคได้ เช่น
แช่เย็นอวดวัตถุดิบสดใหม่ (Freshness in Chilled Food)
จุดแข็ง: คงความสดใหม่ของรสชาติและหน้าตาของวัตถุดิบ
เมนูที่เหมาะสม: อาหารที่ใช้วัตถุดิบพรีเมียม อาหารไทยท้องถิ่น อาหารแช่เย็น (Chilled Food) คืออาหารที่ผ่านกระบวนการเก็บรักษาอาหารที่อุณหภููมิ 4-7 องศาเซลเซียส มักจะเก็บไว้ได้ประมาณ 3– 4 วัน จุดเด่นคือสามารถคงคุณภาพและความสดใหม่ของอาหารได้มากกว่าอาหารแช่แข็ง จึงเหมาะกับอาหารที่ต้องการโชว์วัตถุดิบคุณภาพสูง เช่น เบอร์เกอร์เนื้อวากิว แซนวิชล็อบสเตอร์ หรือเมนูที่ประกอบด้วยวัตถุดิบสดใหม่
แช่แข็งประสบการณ์พิเศษ (Frozen Food for Specialty)
จุดแข็ง: เก็บได้นาน 18 เดือน
เมนูที่เหมาะสม: เมนูนานาชาติ วัตถุดิบตามฤดูกาล หรือเมนูยอดนิยม อาหารแช่แข็ง (Frozen Food) คือ อาหารพร้อมทานที่ผ่านกระบวนการเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิ -18 ถึง -20 องศาเซลเซียส จุดเด่นคือสามารถเก็บได้นาน ทำให้ผู้บริโภคกินอาหารที่โปรดปรานในช่วงเวลาไหนก็ได้ จึงเหมาะกับเมนูพิเศษๆที่หากินได้ยาก รวมถึงเมนูยอดนิยมของร้านอาหารที่เก็บรักษาได้ง่าย เช่น เกี๊ยวซ่า ซาลาเปาไส้ไหล เพื่อให้ลูกค้ากลับไปอุ่นกินเองที่บ้านได้
โภชนาการพร้อมทานทันที (Ready Meal with Nutrition)
จุดแข็ง: คงคุณค่าทางโภชนาการ
เมนูที่เหมาะสม: เมนูเพื่อสุขภาพ เน้นผักสด อาหารพร้อมทาน (Ready Meal) คืออาหารปรุงสุกที่เก็บได้ในอุณหภูมิห้อง ไม่ต้องนำไปอุ่นร้อน มักจะเก็บได้ไม่เกิน 1 วัน อาหารพร้อมทานสามารถเลือกใช้วัตถุดิบที่สดใหม่ มีอายุการเก็บสั้น อย่างผักสด ไข่ต้้ม ที่สำคัญให้ความรู้สึกดีต่อสุขภาพมากกว่า จึงเหมาะกับเมนูอาหารที่อุดมไปด้วยวัตถุดิบเพื่อสุขภาพ เช่น Buddha bowl, Chicken wrap
ของว่างแต่คุณค่าทางอาหารครบ (Snacking for Living)
จุดแข็ง: คำเล็กพกพาง่าย
เมนูที่เหมาะสม: เมนูเป็นคำๆ อิ่มง่ายแต่ให้คุณค่า อาหารว่าง (Snack) ในยุคนี้ไม่ใช่แค่ของกินแก้หิวระหว่างวันอีกต่อไป แต่กลายเป็นหนึ่งในอาหารมื้อสำคัญของคนทำงาน ซึ่งจะต้องมีทั้งคุณค่าทางอาหารและความอิ่ม แต่ควรจะถูกออกแบบมาให้เป็นคำเล็กๆ กินง่าย มีหลากหลายรสชาติ วัตถุดิบเหมาะกับเมนูอาหารประเภทแซนด์วิช ขนมปังสอดไส้ หรือข้าวปั้นที่สามารถพกพาสะดวก กินระหว่างเดินทางหรือนั่งคาเฟ่ได้
ประสบการณ์พร้อมปรุง (Experience Kit)
จุดแข็ง: ประสบการณ์ที่ได้ทำเองก่อนทาน
เมนูที่เหมาะสม: เมนูที่มาพร้้อมซอสพิเศษของเชฟ ชุดอาหารพร้อมปรุง (DIY Meal Kit) คือชุดเตรียมประกอบอาหารสำเร็จรูปที่รวมรวมวัตถุดิบปรุงสุกในการปรุงอาหารชนิดนั้นๆไว้เกือบครบถ้วนแล้ว เหลือขั้นตอนเพียง 1-2 ขั้นตอนให้ผู้บริโภคลงมือเอง ผู้บริโภคจะรู้สึกมีประสบการณ์ร่วมกับอาหารยิ่งกว่า เหมาะกับร้านอาหารที่มีซอสสูตรพิเศษของตัวเองที่ชัดเจน เช่น สปาเกตตี้ซอสสูตรพิเศษ
กลยุทธ์สู่การสร้างประสบการณ์ขั้นกว่าให้อาหารเมนูพร้อมกิน
เมื่อมุมมองของผู้บริโภคต่ออาหาร Ready-to-eat นั้นเปลี่ยนไป พวกเขาไม่ได้มองหาแค่ความสะดวก กินง่าย หรือเมนูที่คุ้นเคย แล้วกลยุทธ์ของการออกแบบอาหารพร้อมทานในปี 2021 คืออะไร
1. วัตถุดิบแสนพิเศษคือจุดขาย (Upgrade to Premium ingredients)
อาหารพร้อมทาน ไม่จำเป็นต้องใช้แต่วัตถุดิบที่หาง่าย ราคาไม่สูง เพื่อประหยัดต้นทุน เน้นความคุ้มค่าคุ้มราคา ผู้บริโภคในปัจจุบันมองหาวัตถุดิบชั้นดีที่ราคาอาจจะสูงขึ้นมาหน่อย แต่คุณภาพดีหรือสร้างประสบการณ์ผ่านรสชาติที่ไม่คุ้นเคย
Free Range Egg: ไข่จากแม่ไก่เลี้ยงปล่อย ชูจุดเด่นเรื่องความปลอดภัยไร้กังวลเรื่องยาปฎิชีวนะ ตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคโดยยึดจริยธรรม (ethical consumption) ที่เลือกซื้อสินค้าโดยคำนึงถึงสวัสดิภาพของสัตว์ด้วย
รููปแบบที่เหมาะสม: Ready Meal, Chilled Food, DIY Meal Kit
Wild Caught Salmon: ได้รับความนิยมสูงขึ้นหลังจากมีการเปิดเผยว่าปลาแซลมอนจากฟาร์มมีโอกาสที่จะปนเปื้อนสารปรอทและยาปฏิชีวนะสูงกว่า แซลมอนจับตามธรรมชาติที่ได้ว่ายในมหาสมุทรอย่างอิสระ ยังมีไขมันน้อยกว่าและมีโอเมก้า 3 มากกว่าด้วย
รููปแบบที่เหมาะสม: Frozen Food, Ready Meal, DIY Meal Kit
Premium Pork: เนื้อหมูสายพันธ์พิเศษที่มีคุณลักษณะด้านเนื้อสัมผัส รสชาติ และมีความหอมเฉพาะตัว อย่างหมูคุโรบูตะ หรือหมูเลี้ยงแบบธรรมชาติไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ และไม่ใช้สารเร่งที่ตอบโจทย์ทั้งผู้บริโภคสายใส่ใจสุขภาพ และกลุ่มผู้บริโภคที่ยึดจริยธรรม
รููปแบบที่เหมาะสม: Frozen Food, Chilled Food, Ready Meal, DIY Meal Kit
Thai Rice: เทรนด์นิยมท้องถิ่น (Localism) ส่งผล ให้ข้าวพันธ์ุพื้นเมืองไทยนิยมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะข้าวสายพันธุ์พิเศษที่ปลูกได้ในบางพื้นที่ของประเทศ เช่น ข้าวเล็บนกจังหวัดพัทลุง ข้าวหอมมะลินิลสุรินทร์ อุดมด้วยสารอาหารที่มากกว่า ให้รสสัมผัสใหม่ๆ และปรับใช้กับอาหารได้หลายเมนู
รูปแบบที่เหมาะสม: Frozen Food, Chilled Food, Ready Meal, DIY Meal Kit, Snack
2. นำเสนอประสบการณ์กินใหม่ๆทั้งไทยและต่างประเทศ (Explore new flavours)
เมื่อผู้บริโภคไม่สามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้ จึงมองหาหนทางอื่นในการได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ เสมือนได้ออกไปท่องเที่ยว หนึ่งในนั้นคือการกินอาหารที่รสชาติแปลกใหม่ต่างไปจากความคุ้นเคย ไม่ว่าจะเป็นอาหารไทยแต่ละภาคที่หากินไม่ได้บ่อยๆ และอาหารนานาชาติรสชาติแปลกลิ้นจากครัวต่างประเทศ
Thai Cuisine: อาหารไทยสูตรโบราณ เช่น แสร้งว่าพระรามลงสรง แกงรัญจวน ได้ฟื้นกลับมาเป็นที่สนใจมากขึ้น เพราะผู้บริโภคกลับมาให้ความสำคัญกับต้นกำเนิดและแหล่งที่มา อีกทั้งยังมองหารสชาติดั้งเดิมของอาหารจากภูมิภาคต่างๆ
รูปแบบที่เหมาะสม: Ready Meal, Chilled Food
Mexican cuisine: ร้านอาหารเม็กซิกันเริ่มเป็นที่คุ้นเคย โดยเฉพาะเมนูทาโก้ (Taco) เบอร์ริโต้ (Burrito) เคซาดิญ่า (Quesadilla) นอกจากรสชาติเข้าถึงง่ายสำหรับคนไทย ยังครบถ้วนด้วยคุณค่าทางโภชนาการ จึงเหมาะกับผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ
รูปแบบที่เหมาะสม: Chilled Food, Ready Meal, DIY Meal Kit, Snack
Korean cuisine: อิทธิพลจากภาพยนตร์และซีรีส์เกาหลีส่งผลให้อาหารเกาหลีกลายเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะอาหารทานเล่น เช่น ต๊อกบกกี ออมุก ที่เหมาะกับการทำเป็นอาหารพร้อมทานให้สัมผัสประสบการณ์กินแบบเกาหลีได้ง่ายๆที่บ้าน
รูปแบบที่เหมาะสม: Frozen Food, Chilled Food, Ready Meal, DIY Meal Kit, Snack
3. คำเดียวจบครบโภชนาการ (Best in one bite)
วิถีชีวิตที่เร่งรีบในปัจจุบันทำให้ผู้คนในเมืองส่วนใหญ่มองหาอาหารพร้อมทานรวมทั้งอาหารคำเล็กที่ตอบโจทย์โภชนาการและกินได้ตลอดทั้งวัน อาหารว่างที่มีทั้งคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไฟเบอร์ จึงมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ
Meat jerky: เนื้อหมักที่ผ่านการอบแห้งหรือรมควันในเตาอบ เพื่อรีดน้ำและไขมันออกจนสามารถเก็บได้นาน กลายเป็นของว่างพร้อมทานที่เป็นที่นิยมของคนรักสุขภาพ เพราะเป็นแหล่งโปรตีนเน้นๆ ไม่มีไขมันและคาร์โบไฮเดรต
Rice Chip: ขนมขบเคี้ยวจากข้าวกลายเป็นของว่างยอดฮิต เพราะยังตอบโจทย์คนชอบกินขนมแต่ต้องการทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพมากกว่า เพิ่มพลังจากคาร์โบไฮเดรตได้และยังตอบโจทย์ทั้งคนแพ้กลูเตนด้วย
Stellar Sandwiches: แซนวิชไส้เน้นๆ ที่มีครบทั้งผัก เนื้อ และขนมปัง คือหนึ่งในเมนูของว่างมาแรงที่ตอบโจทย์ทั้งความอิ่มท้อง พกสะดวก กินง่าย สามารถกินที่ไหนก็ได้ และยังได้สารอาหารครบทุกคำ
4. ปรับเมนูเด็ดให้กลายเป็นเมนูกลับบ้าน (Pivot your same old menu)
เมนูกลับบ้าน (take-out) ไม่ใช่ทางเลือก แต่คือทางรอดของธุรกิจร้านอาหารทั่วไปต่างก็ตอบรับกระแสการซื้ออาหารกลับบ้านที่มาแรง โดยการปรับเปลี่ยนเมนูเด็ดของร้านให้อยู่ในรูปแบบอาหารพร้อมทาน เช่น หากคุณเป็นร้านสเต๊กเจ้าดัง ก็สามารถเพิ่มเมนูข้าวหน้าสเต๊กเพื่อบริการกลับบ้านและเดลิเวอรี่ได้
5. เดินทางไกลแต่ยังอร่อยได้ (Make it Efficient)
การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมช่วยให้อาหารพร้อมทานยังคงความสดใหม่คุณภาพไม่ตกแม้ผู้บริโภคจะไม่ได้กินทันที ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยในอาหารพร้อมทานมีประสบการณ์ที่เหนือกว่า
Temperature-Proof Packaging: อาหารกลับบ้านเย็นชืดหรือละลายเร็วเกินไป การใช้บรรจุภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีมาช่วยป้องกันไม่ให้อุณหภูมิเปลี่ยน เช่น ถุงเคลือบฟอยล์ กล่องข้าวสแตนเลส จึงเป็นทางออกที่ผู้ประกอบการนิยมมากขึ้น
Portability Packaging: เพิ่มความใส่ใจ ในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สามารถพกพาได้ง่าย เช่น มีหูหิ้ว มีช่องสำหรับเกี่ยวหรือจับ จะช่วยให้การพกพาสะดวกและที่สำคัญคือช่วยลดจำนวนขยะด้วย
Transparent and Clear: บรรจุภัณฑ์ที่โปร่งใสมองเห็นวัตถุดิบครบถ้วนสามารถช่วยชูจุดเด่นให้วัตถุดิบที่สดใหม่ จากการสำรวจพบว่าบรรจุภัณฑ์สีใส ช่วยให้ลูกค้าอยากซื้ออาหารมากขึ้นถึง 38%
เคล็ดลับ: พกง่าย สะอาด ปลอดภัย แต่ไม่ทำร้ายโลก
สถานการณ์โรคระบาดทำให้ผู้บริโภคยังคงมองหาความสะอาดปลอดภัยในอาหารประเภท On-the-go แต่ขณะเดียวกันก็ยังมองหาทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า
ยกระดับสุขอนามัยให้เหนือกว่า (Stand for Hygiene)
- แบ่งพื้นที่ในร้านไว้สำหรับบรรจุอาหารพร้อมทานโดยเฉพาะ
- ใช้บรรจุภัณฑ์ที่สะอาดมิดชิด
- มีสติกเกอร์กันแกะ (Tamper-proof tape)
สร้างขยะน้อยกว่า (Make Less Waste)
- จานและกล่องย่อยสลายได้ เช่น จานกาบหมาก จานกาบกล้วย จานกระดาษชานอ้อย ถาดอาหารเยื่อไผ่ กล่องเยื่อยูคาลิปตัส
- หีบห่อธรรมชาติสลายได้สวยด้วย เช่น ห่อข้าวด้วยใบบัว ทำกระทงใบตองสายรัดพร้อมหูหิ้วจากใบมะพร้าว และเชือกกล้วยแผงไข่จากฟางและหญ้าแห้ง
- หลอดไม่ทำร้ายโลก เช่น หลอดกระดาษ หลอดจากข้าวสาลี หลอดไม้ไผ่ หลอดจากเส้นสปาเก็ตตี้
- ออกแบบประสบการณ์ไร้ขยะระหว่างทาง ด้วยการใช้ Reusable Box ออกแบบบริการใช้กล่องซ้ำได้
เมนูอาหารพร้อมทานที่แนะนำ
บทความที่เกี่ยวข้อง
สิ่งที่คุณจะได้รับ:
- ฟรี หลักสูตรอบรมด้านธุรกิจอาหารและการทำอาหาร
- สูตรอาหารและเคล็ดลับที่ดีที่สุดจากเชฟทั่วโลก
- เทรนด์การทำอาหารล่าสุด